ฟอร์ด ประเทศไทย จัดทริปพิเศษให้สื่อมวลชนร่วมทดสอบและพิสูจน์สมรรถนะ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) รถกระบะออฟโรดที่ออกแบบพัฒนาจาก Ford Performance ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล Bi-Turbo ขนาด 2.0 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด และระบบ Terrain Management System พร้อมโหมดการขับขี่ 6 รูปแบบ และช่วงล่างจาก Fox Racing Shox สมรรถนะจะเป็นอย่างไร จะคุ้มไหม ?...กับราคาค่าตัว 1.699 ล้านบาท !!! ติดตามได้ครับ
ข้อมูลเทคนิค Ford Ranger Raptor
คลิกที่นี่...
Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) รูปโฉมภายนอกยังมีเค้าโครงของ Ranger แต่ได้รับการออกแบบให้มีความกว้างใหญ่กว่าในทุกมิติ โดยมีความยาวตัวรถเพิ่มขึ้น 36 มม. เป็น 5,396 มม. ความกว้างเพิ่มขึ้น 168 มม. เป็น 2,028 มม. และความสูงเพิ่มขึ้น 58 มม. เป็น 1,873 มม. ฐานล้อยังคงเท่าเดิมที่ระยะ 3,220 มม. ระยะความกว้างล้อหน้าและด้านหลังเพิ่มขึ้น 150 มม.เป็น 1,710 มม. และความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถยกสูงขึ้น 53 มม. เป็น 283 มม. ทำให้รวมๆแล้ว Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) สามารถขับลุยน้ำได้สูงถึง 850 มม. สูงกว่า Ranger ในรุ่นปกติที่เคลมว่าลุยได้ 800 มม.
เมื่อดูจากสเปกตัวถังที่มีความกว้างใหญ่กว่าเดิมแบบชัดเจน ในส่วนของแชสซี ช่วงล่าง ระบบเบรกของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ก็ได้รับการปรับใหม่ทั้งหมด ที่มีขนาดใหญ่และเสริมให้มีความแข็งแรงมากกว่า ไม่ได้ใช้ร่วมกับ Ranger หรือ Everest อย่างที่หลายคนเข้าใจ
Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ได้รับการติดตั้งโช้คอัพที่ผลิตขึ้นและออกแบบมาเป็นพิเศษโดย Fox Racing Shox ใช้ลูกสูบขนาด 46.6 มิลลิเมตร ทั้งคู่หน้าและหลัง ช่วงล่างถูกออกแบบมาให้มีระยะการให้ตัวของล้อสูงเพื่อความสามารถในการซับแรงกระแทกขณะขับออฟโรด แต่ด้วยระบบบายพาสภายใน (Internal Bypass technology) จึงทำให้การขับขี่ทำได้นุ่มนวลในทุกเส้นทาง
โหมดการขับขี่ก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งใน Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ที่มาพร้อมระบบ Terrain Management System (TMS) กับโหมดการขับขี่ 6 รูปแบบ ได้แก่
- โหมดปกติ หรือ Normal เน้นความสบาย นุ่มนวล โหมดนี้ใช้ได้กับ 2H, 4H, 4L
- โหมดสปอร์ต หรือ Sport เน้นการขับขี่ทางเรียบ การเปลี่ยนเกียร์เร็วและฉับไวในขณะที่รอบเครื่องสูง พร้อมทั้งค้างรอบเครื่องสูงไว้เพื่อให้การตอบสนองคันเร่งที่ดีขึ้น โหมดนี้ใช้ได้กับ 2H เท่านั้น
- โหมดหญ้า/กรวดหิน/หิมะ หรือ Glass- Gravel-Snow ออกแบบมาให้ขับขี่บนทางออฟโรดที่มีพื้นผิวลื่นและมีหลุมบ่อ โดยระบบจะทำการเปลี่ยนเกียร์อย่างนุ่มนวลขึ้นพร้อมทั้งออกตัวด้วยเกียร์ที่สอง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดอัตราการลื่นไถลของล้อรถ โหมดนี้ใช้ได้กับ 4H เท่านั้น
- โหมดโคลน/ทราย หรือ Mud-Sand ระบบจะปรับการตอบสนองของระบบควบคุมการลื่นไถลให้เหมาะสมกับพื้นผิวที่มีความลึกและสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างพื้นทรายและโคลน ด้วยการใช้เกียร์ต่ำที่มีแรงบิดสูง โหมดนี้ใช้ได้กับ 4H, 4L เท่านั้น
- โหมดหิน หรือ Rock ใช้เมื่อขับขี่บนพื้นผิวในเขตภูเขาที่ลาดชัน ต้องใช้ความเร็วต่ำ และเน้นการควบคุมรถให้ขับเคลื่อนอย่างช้าๆ โหมดนี้ใช้ได้กับ 4Lเท่านั้น
- โหมดบาฮา หรือ BAJA ระบบจะปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง โดยระบบป้องกันล้อหมุนฟรีจะถูกตัดการทำงาน เพื่อไม่ให้แทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ รวมทั้งเกียร์จะถูกปรับให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ระบบจะค้างรอบเครื่องไว้นานขึ้นและเปลี่ยนเกียร์ลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม แต่ระบบควบคุมการทรงตัวยังทำงานอยู่ โหมดนี้ใช้ได้กับ 2H, 4H, 4L
Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล Bi-Turbo (เทอร์โบคู่) ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบ และแรงบิด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,000 รอบ ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ซึ่งเป็นเครื่องยนต์และเกียร์เดียวกับ Ranger และ Everest ในรุ่น Top ออพชั่น
ช่วงทดสอบ Ford Ranger Raptor
กับทีมงาน Auto-Thailand
กิจกรรมทดลองขับ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) เริ่มต้นที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร หลังจากรับฟังบรรยายข้อมูลต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็พร้อมมุ่งหน้าสู่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้ร่วมเดินทางอีก 2 คน สลับเปลี่ยนกันขับขี่ตามจุดพักที่กำหนดไว้
ทีมงาน Auto-Thailand เป็นผู้ทดลองขับในมือแรก ระยะทางถึงจุดพัก 86 กม. ก่อนออกเดินทางเดินสำรวจรอบๆ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ที่ตัวรถมีความกว้างใหญ่กว่ารถกระบะทั่วไป และในช่วงแรกต้องเดินทางผ่านสภาพการจราจรที่ติดขัดเพื่อไปขึ้นทางด่วน ก็เป็นกังวลเล็กน้อย
เมื่อก้าวเข้าสู่ห้องโดยสารของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) การเข้าออกขึ้นลงทำได้สะดวกจากบันไดข้างที่เหยียบได้เต็มเท้า ภายในก็สามารถสัมผัสได้ถึงความกว้างขวาง การตกแต่งรวมถึงงานประกอบทำได้เรียบร้อย เบาะนั่งผู้ขับออกแบบได้กระชับแนวสปอร์ตแต่นั่งสบาย ปรับด้วยไฟฟ้า ตำแหน่งการนั่งค่อนข้างสูงสามารถมองเห็นได้รอบคัน พวงมาลัยขนาดวงกำลังดี พร้อมปุ่มควบคุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชุดปุ่มด้านซ้ายจะใช้ปรับเลือกระบบ Terrain Mode และเครื่องเสียง ส่วนชุดปุ่มด้านขวาจะเป็นควบคุมเมนูแสดงข้อมูลต่างๆ และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control แต่ไม่สามารถปรับความเร็วอัตโนมัติได้อย่าง Ranger Wildtrak หรือ Everest ได้ และด้านหลังพวงมาลัยยังมีแป้น Paddle Shift มาให้ใช้งานอีกด้วย
หลังจากปรับตำแหน่งท่านั่งกับปุ่มการใช้งานต่างๆแล้ว ก็เริ่มออกเดินทาง ความรู้สึกแรกกับพละกำลังของขุมพลังเครื่องยนต์ Bi-Turbo 2.0 ลิตร 213 แรงม้า แรงบิด 500 นิวตันเมตร กับเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ค่อนข้างผิดคาดจากที่คิด พละกำลังจะมากันแบบนุ่มนวล ไม่ปรู้ดปร้าดกระชากกันหลังติดเบาะอย่างที่คิด จังหวะที่เราเหยียบคันเร่งลงไปจะหน่วงๆหน่อย อาจจะมาจากน้ำตัวรถและยางขนาดใหญ่ก็น่าจะมีส่วน แต่พอเริ่มทำความเร็วได้ก็สามารถพาตัวถัง Ranger Raptor พุ่งไปได้สบายเหมือนกัน
พวงมาลัยของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) สามารถให้การตอบสนองที่แม่นยำ น้ำหนักที่ช่วงที่ขับช้าหรือถอยจอดจะเบาสบาย แต่พอรถเคลื่อนตัวก็ปรับให้มีน้ำหนักให้ความมั่นใจคล่องตัวดี จากตัวรถที่กว้างใหญ่กว่ารถทั่วไป แต่เมื่อเราคุ้นชินกะระยะตัวรถได้แล้วก็สามารถขับขี่ในสภาพการจราจรที่หนาแน่นได้ปกติ
โดยในการขับขี่ที่ความเร็วนั้น ระบบช่วงล่างค่อนข้างนุ่ม เท่าที่ได้พูดคุยกับท่านอื่น บางก็ว่านุ่มสบายดี แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าช่วงล่างนุ่มไปนิด แต่ในการขับในทางโค้งก็ยังไว้ใจได้ หนึบแน่นมั่นใจดี โดยเฉพาะพวกฝาท่อ รอยต่อถนน และสภาพพื้นผิวขุขระถนนในเมือง Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) สามารถขับผ่านได้แบบแทบไม่รู้สึก
ในช่วงที่ต้องเดินทางจากฝั่งนครนายกข้ามเขาใหญ่ไปอีกฝั่ง กับเส้นทางขึ้นลงเขา ผ่านทางโค้งซ้ายขวาต่อเนื่อง ระบบช่วงล่างของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ก็สามารถตอบสนองการขับขี่ได้อย่างหนึบแน่นนุ่มนวลเหมือนนั่งรถยนต์หรูกันเลยทีเดียว อาการโคลงตัว ท้ายโยนแบบกระบะทั่วไปไม่มีให้รู้สึกทั้งๆที่ตัวรถค่อนข้างสูง
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องชมคือเรื่องการเก็บเสียงในห้องโดยสารของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ทำได้เงียบกว่ารถทั่วไป และยังมีการสร้างเสียงสังเคราะห์ขึ้นมาที่ให้โทนเสียงท่อแนวสปอร์ตที่ให้อารมณ์ในการขับขี่ในช่วงขับทำอัตราเร่ง
ส่วนในช่วงที่เปลี่ยนมาเป็นผู้โดยสารในด้านหน้า เบาะนั่งก็ให้ความกระชับสบายไม่ต่างจากเบาะผู้ขับขี่ แต่ไม่มีระบบปรับไฟฟ้า ส่วนในเบาะนั่งด้านหลังนั้นตัวเบาะนุ่ม พื้นด้านหลังกว้างโปร่งสบาย แต่ไม่มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ต้องอาศัยเพิ่มแรงลมจากด้านหน้าให้ส่งมาด้านหลัง
หลังจากแวะรับประทานอาหารเที่ยงเรียบร้อยจึงเดินทางต่อไปยังสนาม 8 Speed เขาใหญ่ที่เป็นสถานที่ในการทดลองขับขี่แบบออฟโรดของวันนี้ โดยจะได้ทดลองระบบ Terrain Management System ของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ที่มีถึง 6 โหมด และระบบช่วงล่าง Fox Racing Shox ซึ่งสนามแห่งนี้จะมีการใช้สภาพภูมิประเทศจริง และเซตอัพเส้นทาง อุปสรรคต่างๆ เนินดิน แอ่งน้ำ ให้ได้ทดลองขับกันแบบครบถ้วน
ในรอบแรกจะเป็นการขับตามทีมงานฟอร์ดเพื่อดูเส้นทางก่อน 1 รอบ หลังจากนั้นจะได้ทดลองขับเองโดยมีทีมงานฟอร์ดคอยให้คำแนะนำตลอดเส้นทาง เริ่มต้นด้วยเส้นทางเรียบของสนาม 8 Speed เขาใหญ่ แล้วเลี้ยวเข้าสู่พื้นที่ทดสอบแรกที่จะเป็นเนินหิน โดยให้ทดลองใช้โหมดหิน หรือ Rock แต่ในรอบนี้บอกตรงๆว่าลืมเปลี่ยนโหมด แต่พละกำลังของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) กับผู้โดยสาร 3 คน ก็สามารถขับผ่านได้แบบลุ้นๆหน่อย แต่พอรอบจริงใช้โหมดหิน หรือ Rock กับเส้นทางขึ้นลงทางชันทำได้แบบสบายไม่ต้องลุ้นกันเลย
ขับข้ามฝั่งมาอีกด้านจะเป็นพื้นที่กว้างที่เชตเป็นสนามออฟโรดให้ได้ลองหลายรูปแบบ เริ่มต้นที่ด้วยเนินดินสูงในเที่ยวขาขึ้นให้ได้ทดลองกำลังการปีนทางชัน ส่วนในขาลงให้ได้ทดลองระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน (Hill Descent Control) ที่ช่วยให้การขับขี่ลงทางชันทำได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น
ขับต่อมาจะเป็นเนินดินสลับที่ค่อนข้างสูงที่ให้ขับผ่านด้วยความเร็ว 20-30 กม./ชม. ซึ่งดูแล้วถ้าเป็นรถทั่วไปคงต้องให้ความเร็วต่ำกว่านี้แน่ แต่ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ผ่านมาได้แบบค่อนข้างนุ่มนวล เลยมาก็จะเจอกับข่อนไม้วางให้ขับผ่านได้อย่างสบายเช่นกัน ให้การควบคุมง่าย อาการสะท้านที่พวงมาลัยมีน้อยมากกับการขับขี่แบบนี้ หลังจากนั้นก็จะมาเจอการจำลองแอ่งน้ำโคลนดินให้ได้ทดลอง โดยค่อยๆหย่อนลงแล้วเร่งขึ้นจากแอ่งน้ำได้แบบไม่ต้องลุ้น
เลี้ยวกลับมาทางตรงพื้นผิวเป็นหญ้า ในขณะจอดรถก็เป็นปรับโหมดหญ้า/กรวดหิน/หิมะ หรือ Glass- Gravel-Snow และโหมด 4H แล้วกดคันเร่งทำความเร็ว ตัวรถสามารถวิ่งได้แบบไม่มีอาการลื่น สามารถควบคุมง่าย และในบ้างช่วงทีมงานฟอร์ดให้ลองโยกพวงมาลัยให้ท้ายรถปัด แต่ระบบก็จะช่วยให้เราควบคุมการขับบนพื้นผิวแบบนี้ได้อย่างง่ายดาย
ขับต่อมาจะเป็นเนินดินให้ได้ทดลองขับ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) บินแบบในการแสดงวันเปิดตัว โดยเนินแรกนั้นจะให้ลองด้วยความเร็วประมาณ 40-50 กม./ชม. ตัวรถพุ่งขึ้นลอย 4 ล้อแล้วลงสู่พื้นแบบนิ่มนวล เพียงแค่จับพวงมาลัยให้ตรง แสดงถึงสมรรถนะของระบบช่วงล่างจาก Fox Racing Shox ที่สามารถซับแรงกระแทกด้วยระบบบายพาสภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อขับต่อมาจะมีให้ทดลองกระโดดเนินอีกครั้ง ซึ่งจะให้ใช้ความเร็วที่สูงกว่าเดิมประมาณที่ 80 กม./ชม. ต้องบอกว่าตัวรถ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) น้ำหนัก 2 ตันกว่า สามารถพุ่งขึ้นลอย 4 ล้อ และลงได้แบบนิ่มนวลเช่นเดิมแบบนิ่งๆ แต่ตรงนี้ต้องบอกกันตรงๆว่า เป็นการทดสอบในสนาม ถ้าเป็นการใช้งานจริง ก็คงไม่เหมาะสมนัก เพราะอาจจะเกิดความเสียงหายกับระบบช่วงล่างได้ เรียกว่า ถ้าขับลุยหลุมบ่อ หรือถนนบ้านเรานั้น ทำได้สบายไม่มีปัญหาแน่นอน
จบกิจกรรมวันแรกจึงเดินทางเข้าที่พักเพื่อเตรียมตัวทดสอบการขับขี่เต็มรูปแบบกับโหมด BAJA แบบออฟโรดความเร็วสูงกันที่ทุ่งกังหันลมห้วยบง
เริ่มวันที่สองของการทดลองขับ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ออกเดินทางจากที่พักไป 76 กม. กับเส้นทางถนนลาดยางทั่วไปที่มีทั้งทางโค้งบางทางตรงบาง ระหว่างเส้นทางช่วงทางตรงก็พอได้ลองพละกำลังของเครื่องยนต์และระบบเกียร์รวมถึงระบบช่วงล่าง เรียกว่ากับการเดินทางในทางเรียบก็สามารถให้สมรรถนะที่น่าพอใจ ถึงจะรู้สึกนุ่มเกินไปบ้าง แต่เท่าที่สังเกตถ้าใช้ความเร็วมากขึ้น ระบบช่วงล่างจะรู้สึกให้ความมั่นใจในช่วงความเร็วสูง รวมถึงในช่วงที่ต้องชลอหยุดความเร็ว ระบบเบรกของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ก็ให้ความมั่นใจได้ สามารถหยุดชลอได้ตามแรงที่เราเหยียบแป้นเบรก
เมื่อเดินทางถึงทุ่งกังหันลมห้วยบง สภาพเส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นหินกรวดลอย บางช่วงเป็นทางดินมีแอ่งน้ำเป็นโคลนบาง ซึ่งทางทีมงานฟอร์ดจะให้ขับตามดูเส้นทางกันก่อน แต่ละจุดก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกคอยดูกันรถที่อาจจะใช้เส้นทางด้วย แต่จริงๆแล้วพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ปิดจึงขับขี่กันได้เต็มที่กับระยะทางกว่า 10 กม.
หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้าสู่พื้นที่พัก เพื่อรอคิวทดสอบ โดยจะใช้ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) 6 คัน มีทีมงานฟอร์ดที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้วที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักแข่งสายฝุ่นคอยแนะนำเราตลอดการขับขี่ โดยปล่อยรถห่างกันประมาณ 1 นาที
ต้องบอกตรงนี้เลยว่า การได้มาทดลองขับทางฝุ่นแบบเต็มรูปแบบแบบนี้ไม่ได้มีโอกาสบ่อยๆ เริ่มต้นการขับด้วยโหมด BAJA และโหมด 4H โดยในโหมดนี้ระบบจะปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง โดยระบบป้องกันล้อหมุนฟรีจะถูกตัดการทำงาน เพื่อไม่ให้แทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ รวมทั้งเกียร์จะถูกปรับให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ระบบจะค้างรอบเครื่องไว้นานขึ้นและเปลี่ยนเกียร์ลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม แต่ระบบควบคุมการทรงตัวยังทำงานอยู่
ความรู้สึกในการขับขี่ที่ทีมงานฟอร์ดแนะนำไว้ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. และให้ใช้ความเร็วตามป้ายที่บอกไว้ตามเส้นทาง เริ่มออกตัวก็จะรู้สึกได้ถึงพละกำลังอัตราเร่งที่ติดเท้ากว่าในโหมดอื่นๆ ท้ายรถก็จะดิ้นนิดๆ ให้ได้ขับขี่และแก้พวงมาลัยกันพอสนุก ส่วนในช่วงทางโค้งนั้นก็จะต้องใช้การควบคุมมากหน่อย แต่ระบบช่วยการขับขี่ต่างๆที่ยังเปิดใช้อยู่ก็ทำให้การขับขี่ด้วยความเร็วบนทางฝุ่นแบบนี้ง่ายกว่าที่คิด
ส่วนเมื่อลองปรับมาใช้โหมดหญ้า/กรวดหิน/หิมะ หรือ Glass- Gravel-Snow กับโหมด 4H การเส้นทางเดินเรียกว่าสามารถขับขี่ควบคุมได้ง่ายมากขึ้น อาการท้ายรถดิ้นหายไปมาก แต่ถ้าพูดถึงความสนุกในการขับขี่ต้องบอกว่า โหมด BAJA ให้ความดิบสนุกกว่าเยอะในอารมณ์แบบกำลังขับ Cross Country แบบนักแข่งตัวจริง แต่พูดกันตรงๆว่าคนทั่วไปอาจจะหาโอกาสขับกับสถานที่ปิดแบบนี้ยากหน่อย ซึ่งไม่แนำให้ไปขับในที่สาธารณะเพื่อความปลอดภัย
ในระหว่างทดลองขับ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ได้สังเกตรอบการทำงานของเครื่องยนต์ในโหมด D ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ใช้รอบเครื่อง 1,500 รอบ และความเร็ว 120 กม./ชม. ใช้รอบเครื่องไม่ถึง 2,000 รอบ เรื่องอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงกับการขับขี่เรื่อยๆจะอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลลิตร กับความเร็วใช้งาน 100-120 กม./ชม.ผู้โดยสาร 3 คน ซึ่งแน่นอนถ้าดูจากตัวเลขแล้วเรื่องความประหยัดจะไม่ใช่จุดเด่นของรถรุ่นนี้
นอกจากนี้ยังได้ทดลองใช้อุปกรณ์ PerformanceBox วัดอัตราเร่งของ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) นั่ง 3 คน ได้ข้อมูลดังนี้
โหมด D
0-40 กม./ชม. ทำได้ 3.2 วินาที
0-50 กม./ชม. ทำได้ 4.1 วินาที
0-60 กม./ชม. ทำได้ 5.2 วินาที
0-80 กม./ชม. ทำได้ 8.0 วินาที
50-70 กม./ชม. ทำได้ 2.4 วินาที
80-120 กม./ชม. ทำได้ 9.5 วินาที
0-100 กม./ชม. ทำได้ 12.0 วินาที
0-120 กม./ชม. ทำได้ 17.6 วินาที
โหมด S
0-40 กม./ชม. ทำได้ 3.2 วินาที
0-50 กม./ชม. ทำได้ 4.1 วินาที
0-60 กม./ชม. ทำได้ 5.3 วินาที
0-80 กม./ชม. ทำได้ 8.3 วินาที
50-70 กม./ชม. ทำได้ 2.5 วินาที
80-120 กม./ชม. ทำได้ 9.5 วินาที
0-100 กม./ชม. ทำได้ 12.4 วินาที
0-120 กม./ชม. ทำได้ 17.7 วินาที
ทีมงาน Auto-Thailand ขอสรุปแบบนี้ Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) รถกระบะ 4 ประตูที่หล่อพร้อมมาจากโรงงาน ภายนอกให้มาครบ ภายในยังขาดออพชั่นหลายตัวที่น่าจะมีในรถราคานี้ อัตราเร่งตีนต้นมาแบบนุ่มๆเรื่อยๆ ไม่ไม่ปรู้ดปร้าดอย่างที่คิด เรื่องอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงก็เช่นกัน แต่จุดเด่นที่ดูแล้วในตลาดจะไร้คู่แข่งก็คือ เรื่องสมรรถนะในแบบออฟโรดเดิมๆจากโรงงาน ทั้งเครื่องยนต์แรงบิดสูง ระบบเกียร์ 10 สปีดที่ส่งถ่ายกำลังได้อย่างต่อเนื่อง ระบบแชสซีและช่วงล่างที่ได้รับการออกแบบพัฒนาจาก Ford Performance รวมถึงไฮไลต์ชุดโช้คอัพ Fox Racing Shox ที่ออกแบบมาเฉพาะ นี่ยังไม่รวมสมรรถนะการขับขี่ที่สนุกกับโหมด BAJA เฉพาะรถฟอร์ดเท่านั้น เรียกว่ารายเอียดออฟชั่นหลายตัวในรถ ไม่สามารถนำเอาทั้ง Ranger หรือ Everest มาแต่งเพิ่มได้ กับส่วนต่างราคาค่าตัวที่แพงกว่า ก็ถือว่า Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์) ยังคุ้มค่าน่าใช้ แต่อาจจะไม่ใช้รถคันแรกในการใช้งาน หรือใช้งานประจำวัน เพราะตัวรถกว้างใหญ่น่าจะไม่สะดวกในการเข้าพื้นที่จอดรถทั่วไป หรือใช้งานในสภาพการจราจรที่หนาแน่นนัก แต่ถ้ารับเงื่อนไขข้อแม้ต่างๆที่ว่ามาได้ และพร้อมรับการดูแลซ่อมบำรุงในระยะยาวได้ บอกได้คำเดียวว่า Ford Ranger Raptor เป็นกระบะออฟโรดจากโรงงาน ครบเครื่อง เจ๋งสุดแล้ว ณ เวลานี้