auto-thailand.com
หลังจากที่ทีมงาน Auto-Thailand ได้มีโอกาศไปทดลองขับ Honda City ใหม่ ครั้งแรกในสนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จ.ปราจีนบุรี โดยครั้งนั้นเป็นการทดลองขับในช่วงสั้นๆในสนามทดสอบกับ Honda City ใหม่ รุ่น RS ซึ่งก็ทำให้ได้สัมผัสกับสมรรถนะของเครื่องตัวใหม่ 1.0 ลิตร เทอร์โบ พร้อมกับช่วงล่างที่ปรับมาใหม่ ทิ้งช่วงไปไม่นาน มาครั้งนี้ ทางค่ายฮอนด้าได้จัดให้มาทดลองขับ Honda City ใหม่ ที่ จ.เชียงราย ใช้เส้นทางเชียงราย-เชียงของ ระยะทางรวมไป-กลับประมาณ 200 กม. กับสภาพเส้นทางที่เรียกว่าเกือบครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางตรง ทางโค้ง ขึ้นลงเขา แต่ยังขาดการทดลองขับในสภาพการจรจรในเมือง แต่แค่ที่ได้ทดลองขับครั้งนี้ก็ค่อนข้างประทับใจในสมรรถนะของ Honda City ใหม่ ที่ต้องบอกว่า ไปได้ทุกเส้นทางจริงๆ สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ทีมงาน Auto-Thailand ได้เลือกทดลองขับ Honda City ใหม่ รุ่น SV ที่มีแค่ 2 คันในกลุ่ม นอกนั้นจะเป็นรุ่น RS ที่เราได้เคยทดลองขับในสนามทดสอบที่ปราจีนบุรีมาแล้ว Honda City SV เปิดราคาที่ 665,000 บาท ถือเป็นรุ่นรองท็อป ถูกกว่ารุ่นท็อป RS 74,000 บาท ซึ่งถ้าดูจากส่วนต่างราคาแล้วจะพบว่า ภายนอกโดยรวมยังเหมือนกัน ไม่มีชุดแต่ง RS โดยด้านหน้าในรุ่น SV ไฟหน้าจะเป็นแบบ HID โปรเจคเตอร์ พร้อมไฟ LED Daytime Running Light ไม่มีไฟตัดหมอกที่มุมกันชนหน้า กระจังหน้าแบบโครเมี่ยม กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวรถ ล้ออัลลอยจะมีขนาด 15 นิ้วพร้อมยาง Maxxis ขนาด 185/60 R15 ส่วนที่ด้านหลังจะเป็นกันชนแบบธรรมดาเรียบๆ และที่เหนือไฟท้ายฝั่งผู้ขับจะมีสัญลักษณ์ Vtec Turbo ภายในห้องโดยสารของ Honda City SV ตกแต่งเน้นสีโทนดำ พร้อมวัสดุบุนุ่มสีเบจที่คอนโซนหน้า แผงประตูทั้ง 4 บาน และคอนโซนเกียร์ ตัวเบาะนั่งรูปทรงคล้ายกับ RS ออกแบบให้นั่งได้กระชับมากขึ้น โดยรุ่น SV หุ้มหนังทั้งตัว พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นขนาดเหมาะมือ ไม่มีแป้นแพดเดิลชิฟ หน้าปัดมาตราวัดแบบธรรมดาไม่มีกราฟิกสีแดงแบบรุ่น RS ระบบแอร์ปุ่มปรับต่างๆเหมือนกัน หน้าจอเครื่องเสียงชุดเดียวกัน แต่ไม่มีระบบ Honda CONNECT มาให้ในรุ่นนี้ รวมถึงที่บังแดดมีกระจกมาด้านเดียวฝั่งคนขับ สำหรับเบาะหลังใน Honda City SV จะออกแบบมาให้พับไม่ได้ไม่เหมือนรุ่นก่อน และไม่มีที่วางแขนตรงกลาง จากการสอบถามทีมออกแบบบอกว่าต้องการให้ตัวเบาะนั่งได้สบาย เนื่องจากถ้าออกแบบให้พับได้ ตัวเบาะจะต้องมีความบางกว่านี้ โดยที่ห้องโดยสารด้านหลังจะไม่มีจุดเชื่อมต่อหรือปลั๊กมาให้ แต่จุดเด่นที่สัมผัสได้ชัดเจนก็คือ เรื่องความกว้างขวาง พื้นที่วางขามีมากขึ้นจากการออกแบบรางยึดเบาะหน้าให้มีความห่างมากกว่าเดิม ทำให้มีช่องว่างในการวางเท้าของผู้โดยสารด้านหลังนั่งได้สบายกว่าเดิม นอกจากนี้ Honda City ใหม่ ยังเน้นเรื่องการเก็บเสียงของห้องโดยสาร ด้วยการเพิ่มการฉีดสเปรย์โฟมที่ฐานเสาตัวถัง รวมถึงเพิ่มฉนวนกันเสียงในห้องโดยสารจากรุ่นเดิมที่ไม่มีในส่วนนี้ Honda City SV มาพร้อมขุมพลังเครื่องยนต์เบนซิน 1.0 ลิตร VTEC TURBO แบบ 3 สูบ 12 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร ที่ 2,000-4,500 รอบ ยังไม่รองรับน้ำมันเบนซิน E85 ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT 7 สปีด ที่มีการปรับปรุงระบบสายพาน ลดแรงเสียดทานในจุดต่างๆ ทำให้มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยทางทีมวิศวกรฮอนด้าญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า เกียร์ลูกนี้จะสามารถรับแรงบิดได้ไม่เกิน 175 นิวตันเมตร ตรงนี้ถ้าจะนำไปต่อยอดปรับจูนก็จะมีข้อจำกัดมากกว่าเกียร์ CVT ของ Honda Civic Turbo ที่สามารถรับแรงบิดเผื่อไว้ได้มากกว่า โดยเครื่องยนต์ตัวนี้ทางฮอนด้าได้พัฒนามาให้เข้าเกณฑ์ ECO Car Phase 2 ของบ้านเรา และผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 5 ถึงแม้ในบ้านเราน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนใหญ่จะอยู่ในแค่มาตรฐานไอเสีย Euro4 ทางทีมวิศวกรฮอนด้าญี่ปุ่นบอกว่าใช้ได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดยจะมีจุดเด่นอยู่ที่เป็นเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้ระบบฉีดจ่ายน้ำมันตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ที่ให้ความแม่นยำกว่า ระบบแคมชาฟท์ Dual VTC สามารถเพิ่มหรือลดองศาของแคมชาฟท์ในการเปิดปิดวาล์วไอดีและไอเสีย และระบบแปรผันระยะยกของวาล์ว VTEC เป็นการแปรผันระยะยกของวาล์วไอดี เพิ่มการประจุไอดีเข้าสู่ห้องเผาไหม้ จะทำงานที่รอบเครื่องยนต์ช่วง 1,000 – 3,500 รอบ และยังมีอินเตอร์คูลเลอร์แบบน้ำ (Water-Cooled Type Intercooler) ช่วยระบายความร้อนอากาศจากการบูสท์ของเทอร์โบด้วยน้ำที่จะมีระยะการเดินทางของอากาศที่สั้นกว่าอินเตอร์แบบอากาศ ระบายความร้อนได้ดีกว่าที่เหมาะกับการใช้งานในเมืองที่การจราจรค่อนข้างติดขัด ทำให้อากาศที่ส่งผ่านมาจากเทอร์โบเย็นลง และมีชิ้นส่วนอุปกรณ์น้อยลง ส่งผลให้การตอบสนองของเครื่องยนต์รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเต็มที่ และจากการสอบถามทีมวิศวกรญี่ปุ่นเรื่องการดูแลระบบอินเตอร์คูลเลอร์แบบน้ำ ก็ง่ายๆเพียงหมั่นเช็กระดับน้ำในหม้อพักน้ำของระบบอินเตอร์คูลเลอร์ที่จะอยู่คู่กับหม้อพักน้ำของระบบระบายความร้อนเดิมทั่วไป และมีอีกความแตกต่างในเรื่องการเข้าเช็กระยะหรือเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่จะไม่ได้ดูตามระยะทางการใช้งานแบบเดิม แต่จะมีไฟเตือนบนชุดมาตรวัดที่ระบบจะประมวลผลว่าควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหรือยัง โดยนำข้อมูลเกี่ยวกับรอบการหมุนของเครื่องยนต์ ค่าโหลดของเครื่องยนต์ อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น และอุณหภูมิน้ำมันเครื่องมาคำนวน โดยทางวิศวการญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า การใช้รถแต่ละคน การขับขี่ก็ไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมในการใช้งานก็แตกต่างกัน ทำให้เกิดความสึกหรอและการเสื่อมคุณภาพของน้ำมันเครื่องไม่เท่ากัน ซึ่งจะแนะนำให้ใช้น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ 0W20 ก็เพียงพอกับการใช้งาน และจะมีระยะเปลี่ยนถ่ายเฉลี่ยประมาณ 8,000-10,000 กม. หรือใครต้องการใช้น้ำมันเครื่องเกรดสูงไปเลยก็ไม่ว่ากัน ช่วงทดสอบ Honda City Turbo รุ่น SV กับทีมงาน Auto-Thailand เริ่มต้นทีมงาน Auto-Thailand ขอเป็นผู้นั่งโดยสารก่อน ระยะทางที่ใช้ในวันนี้จะได้ขับคนละประมาณ 100 กม. สำหรับรถทดสอบของเราจะเป็น Honda City รุ่น SV ที่มี 2 คันในทริปนี้ ก้าวเข้าสู่ห้องโดยสารที่ตำแหน่งเบาะนั่งหน้าคู่ผู้ขับขี่ ในรุ่น SV ตัวเบาะจะหุ้มด้วยหนังแบบเรียบๆไม่ได้เน้นความสปอร์ตแบบรุ่น RS โดยส่วนตัวกลับชอบเรียบๆแบบนี้ แต่การตกแต่งจะมีวัสดุแบบนุ่มสีเบจที่คอนโซลหน้า แผงประตู คอนโซลเกียร์ ที่ดูแล้วสีจะโดดๆไปหน่อย งานประกอบรวมถึงคุณภาพวัสดุถือว่าพอใช้ คือดีกว่า City โฉมก่อน แต่ยังไม่เรียบร้อยเท่าคู่แข่ง การนั่งโดยสาร เบาะหน้านั่งกระชับ นุ่มสบาย กว้างขวางใช้ได้ และเมื่อลองไปนั่งที่เบาะนั่งด้านหลังก็ต้องบอกว่า พื้นที่ห้องโดยสารด้านหลังนั้นกว้างขวางกว่าคู่แข่งชัดเจน เบาะหลังกว้างนั่งสบาย พื้นที่วางขามีเหลือเฟือ ถึงแม้ว่าจะไม่มีที่เท้าแขนมาให้ รวมถึงไม่มีจุดเชื่อมต่อหรือปลั๊กมาให้เลยต้องอาศัยการใช้งานจากด้านหน้าเท่านั้น โดยความรู้สึกในช่วงที่นั่งเดินทาง ตัวรถก็ค่อนข้างนิ่งในระดับหนึ่ง ถ้าใช้ความเร็วไม่สูงมาก แต่เมื่อผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงและต้องเข้าโค้งต่อเนื่องก็พอจะรู้สึกได้ถึงการโยนตัวบาง ซึ่งตรงนี้น่าจะมาจากขนาดล้อและยางขนาด 15 นิ้วที่มีแก้มยาวสูงกว่าในรุ่น RS ที่แก้มยางเตี้ย แต่ถ้าขับขี่เดินทางทั่วไป Honda City รุ่น SV ก็จะให้ความนุ่มนวลมากกว่า เมื่อถึงจุดพักและรับประทานอาหารเที่ยงเรียบร้อย ก็ถึงคิวที่เราจะได้ทดลองขับ Honda City รุ่น SV เที่ยวขากลับโดยใช้เส้นทางเดิม เมื่อก้าวเข้าไปนั่งในตำแหน่งผู้ขับขี่ ต้องบอกว่ารู้สึกได้เลยว่าตำแหน่งการนั่งพอดีตัว เพราะว่าในครั้งที่ไปทดลองขับในสนามโรงงานฮอนด้า เวลาค่อนข้างน้อยขึ้นรถก็ต้องรีบขับเลย แต่มาครั้งนี้ เราได้มีเวลาอยู่กับรถมากขึ้น จุดแรกที่ชอบก็คือ พวงมาลัยที่มีขนาดจับได้พอดีมือ วงพวงมาลัยไม่ใหญ่ไม่เล็ก แต่ในรุ่น SV จะไม่มีแป้นแพดเดิลชิฟ และระบบครูสคอนโทรลมาให้จะมีเฉพาะรุ่น RS เริ่มออกตัวก็สามารถสัมผัสอัตราเร่งของเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ 122 แรงม้า ที่สามารถให้อัตราเร่งได้ดีกว่าที่คิด เพราะปกติระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่เคยทดลองขับมาจะไม่สามารถให้อัตราเร่งได้ต่อเนื่อง และมีฟิลลิ่งคล้ายเกียร์อัตโนมัติแบบ Torque Convertor ที่มีช่วงจังหวะการต่อเกียร์ให้ได้รู้สึกทำให้ขับได้สนุก ที่สำคัญอัตราเร่งทำได้ไหลลื่น เรียกว่ากดคันเร่งลงไปก็สามารถทำความเร็วไต่ไปได้แบบไม่เหนื่อย เผลออีกที่ก็เกือบจมไมล์ โดยที่พวงมาลัยก็ให้น้ำหนักที่ตึงมือ ไม่เบาหวิวเช่นรุ่นก่อน โดยเฉพาะช่วงขับทำความเร็วสูง ยังควบคุมได้มั่นใจ เมื่อรวมกับระบบช่วงล่างของ Honda City ใหม่ ที่ปรับเซตมาค่อนข้างลงตัวในแบบขับช้าก็มีความนุ่มหนึบ เมื่อใช้ความเร็วสูงก็ยังเก็บอาการได้ดี ปกติรถกลุ่มนี้ขับที่ความเร็วสูงก็ต้องรีบยกคันเร่งกันแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่ Honda City ใหม่ ทำได้ดีกว่าเดิม คือเรื่องการเก็บเสียง ที่ได้รับการปรับเพิ่มวัสดุซับเสียงในจุดต่างๆที่กล่าวไปแล้ว เรียกว่าการขับด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. เสียงรบกวนในห้องโดยสารยังเงียบใช้ได้อยู่เลย จะเริ่มได้ยินเสียงรบกวนดังขึ้นบ้างก็ตอนผ่าน 150 กม./ชม.ไปแล้ว รวมถึงความเร็วสูงกว่านั้นก็ยังถือว่าเก็บเสียงรบกวนได้ดีกว่าที่คิด และเนื่้องจากรถคันที่เราขับเป็นรุ่น SV ซึ่งไม่มีแป้นแพดเดิลชิฟสำหรับปรับลดเกียร์ เพราะในช่วงลงเขาเป็นปกติของเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่จะมี Engine Brake น้อย ทำให้ต้องใช้งานระบบเบรกมากไปสักหน่อย ซึ่งถ้ามีแพดเดิลชิฟสำหรับปรับลดเกียร์ก็จะช่วยลดภาระของเบรกให้น้อยลงและยังให้ความปลอดภัยในการขับขี่มากขึ้นอีกด้วย สำหรับเรื่องความนิ่งของเครื่องยนต์ 3 สูบ ของ Honda City ใหม่ ถือว่าเครื่องยนต์เดินเบาได้นิ่งกว่าคู่แข่งชัดเจนที่เป็นธรรมดาของเครื่องยนต์ 3 สูบที่จะมีความสั่นสะเทือนบ้างเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ 4 สูบ แต่จะมีอาการกระตุกของเกียร์ CVT เบาๆ ในช่วงที่ขับมาแล้วชลอความเร็วแล้วยกคันเร่ง แต่ตรงนี้เท่าที่สังเกตจากการที่ได้ทดลองขับรถคู่แข่งมาแล้ว อาการนี้ใน Honda City ใหม่ จะมีอาการน้อยกว่า อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ เรื่องของระบบเบรกของ Honda City ใหม่ เท่าที่ได้ทดลองใช้งานก็สามารถหยุดชลอความเร็วสูงได้อย่างมั่นใจ ความรู้สึกในการเบรกนุ่มชลอความเร็วได้ตามแรงเหยียบ โดยด้านหน้าจะเป็นแบบดิสก์เบรก ด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก ซึ่งหลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องการลดต้นทุนราคาตัวรถ แต่จากการสอบถามทีมวิศวกรผู้ออกแบบได้ให้เหตุผลที่เลือกเบรกหลังเป็นแบบดรัมเบรก เพราะน้ำหนักของชุดดิสก์เบรกและการลดแรงเสียดทานของล้อหลังที่มีส่วนช่วยเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และมลพิษ ให้ผ่านมาตรฐาน ECO Car Phase 2 ในส่วนของระบบความปลอดภัยพื้นฐานที่รถยนต์ทั่วไปมี Honda City ใหม่ ก็มีติดตั้งมาครบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างตัวถังนิรภัย G-Force Control หรือ G-CON ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่งในรุ่น RS ส่วนในรุ่น SV มีแค่ 4 ตำแหน่ง ระบบเบรก ABS พร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง VSA ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน HSAและกล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมองได้ 3 ระดับ แต่เมื่อนำราคาค่าตัว Honda City รุ่น SV ไปเทียบกับคู่แข่งจะเห็นว่าด้วยราคาที่แพงกว่า ออพชั่นใหม่ๆที่ควรจะมีกลับถูกตัดหายไปหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น ระบบเตือนจุดอับสายตา ระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน ระบบเตือนการชนด้านหน้า รวมถึงระบบกล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ทดลองใช้อุปกรณ์ PerformanceBox วัดอัตราเร่งของ Honda City ใหม่ (นั่ง 2 คน) ได้ข้อมูลดังนี้ โหมด D
0-40 กม./ชม. ทำได้ 3.3 วินาที
0-50 กม./ชม. ทำได้ 4.2 วินาที
0-60 กม./ชม. ทำได้ 5.2 วินาที
50-70 กม./ชม. ทำได้ 2.0 วินาที
80-120 กม./ชม. ทำได้ 7.2 วินาที
0-100 กม./ชม. ทำได้ 10.6 วินาที
0-120 กม./ชม. ทำได้ 14.7 วินาที โหมด S
0-60 กม./ชม. ทำได้ 5.1 วินาที
50-70 กม./ชม. ทำได้ 1.9 วินาที
80-120 กม./ชม. ทำได้ 7.1 วินาที
0-100 กม./ชม. ทำได้ 10.3 วินาที
0-120 กม./ชม. ทำได้ 14.4 วินาที ในเรื่องอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจากการทดลองขับ Honda City ใหม่ในทริปนี้ ตลอดระยะการเดินทางจะใช้ความเร็วสูงตลอด เจอกับทุกสภาพเส้นทาง รวมถึงขับขึ้นลงเขา ตัวเลขเฉลี่ยของรถแต่ละคันอยู่ที่ 10-15 กิโลลิตร แต่จะมีช่วงขากลับรถของทีมวิศวกรญี่ปุ่นขับมาได้ทดลองขับที่ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. นั่ง 4 คน เปิดแอร์ปกติ ได้ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 21 กิโลลิตร ทีมงาน Auto-Thailand ขอสรุปแบบนี้ จากการได้มาทดลองขับ Honda City ใหม่ เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ กันอีกรอบ ทำให้ได้สัมผัสสมรรถนะพละกำลังของเครื่องยนต์ที่สามารถให้อัตราเร่งได้ดีกว่าที่คิดไว้ การส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT ของฮอนด้าทำได้ดีกว่าที่เคยสัมผัสมาในทุกรุ่น รวมถึงความหนึบนุ่มของช่วงล่างที่ปรับเซตมาเหมาะกับการใช้งาน เรียกว่าครอบคุมได้หลายกลุ่มผู้ใช้งาน ไม่ถึงกับมีความกระด้างนั่งสบาย แต่ยังขับขี่ได้สนุกค่อนข้างลงตัวกับพละกำลังที่มีมาให้ และยังมีห้องโดยสารที่กว้างสุดในกลุ่ม ที่ถึงแม้งานประกอบและคุณภาพของวัสดุบางจุดอาจเป็นรองคู่แข่ง แต่เมื่อมองภาพรวมของตัวรถทั้งเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ความสะดวกสบายในห้องโดยสาร รวมทั้งเรื่องมั่นใจในการดูแลและบริการหลังการขาย... Honda City ใหม่ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆที่น่าสนใจในรถยนต์กลุ่มนี้เหมือนกันครับ...