หลังจากที่ค่ายเชฟโรเลตได้เผยโฉมเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ออกสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 33 ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) จะต้องก้าวขึ้นไปต่อกรกับเอสยูวีค่ายยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น 2-3 ค่ายเลยก็ว่าได้ แต่อย่าลืมครับว่าเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ก็มีภาพลักษณ์ของการเป็นรถเอนกประสงค์ในตระกูลเชฟโรเลตสไตล์อเมริกันที่ได้รับการยอมรับมาทั่วโลก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทีมงาน Auto-Thailand พลาดไม่ได้กับการที่จะได้สัมผัสสมรรถนะของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer)
โดยเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ที่ทีมงาน Auto-Thailand นำมาทำการทดสอบในครั้งนี้เป็นรุ่น 2.8 LTZ1 เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ขับเคลื่อนสี่ล้อ เป็นรุ่น TOP สุดเลยทีเดียว

แรกสัมผัสกับเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ด้วยรูปลักษณ์บึกบึนแข็งแกร่งดูสะดุดตาที่ได้รับการพัฒนาออกแบบมาจากพื้นฐานรถปิกอัพโคโลราโด ฝากระโปรงหน้าเน้นให้ดูบึกบึน มีสันคม กรอบไฟหน้าโปรเจคเตอร์ อยู่ในตำแหน่งด้านล่างแนบชิดฝากระโปรง เพิ่มความดุดันให้แก่ด้านหน้ารถ กระจังหน้าสองชั้น ดูอัลพอร์ท เอกลักษณ์ของเชฟโรเลต ถูกออกแบบลวดลายกระจังให้เป็นแบบสามมิติ ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยอลูมิเนียม ที่กันชนหน้า เส้นสายด้านข้าง ฝาประตูท้าย และราวหลังคา บวกกับล้ออัลลอยขอบ 18 นิ้ว ก็ยิ่งเพิ่มความหล่อให้กับเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ได้อย่างลงตัว

เมื่อก้าวเข้าสู่ภายในห้องโดยสารของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ก็สัมผัสได้ถึงความกว้างขวาง การตกแต่งด้วยวัสดุที่มีคุณภาพลายพื้นผิวเพิ่มความรู้สึกหรูหราทุกการสัมผัส แผงคอนโซลเน้นความกลมกลืน ด้วยสไตล์ดูอัลค็อกพิทเอกลักษณ์ของเชฟโรเลต เพียบพร้อมทั้งความหรูหรา ผสานกับความสมบุกสมบันในแบบรถเอนกประสงค์ที่รองรับทุกการใช้งาน ห้องโดยสารของเทรลเบลเซอร์ รองรับผู้โดยสารด้วยเบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง โดยสามารถพับเบาะทั้งสามแถวได้เพื่อเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ และมีพื้นที่บริเวณที่นั่งแถวที่ 3 กว้างขวางสามารถใช้งานได้อย่างสบาย และไม่ลืมที่จะออกแบบให้มีช่องเก็บของมากมายทั่วห้องโดยสารเรียกว่าหันไปทางไหนก็มีช่องเก็บของให้ใช้สอยได้อย่างสะดวกสบาย

ภายในห้องโดยสารของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer ยังเพียบพร้อมด้วยเครื่องเสียงคุณภาพดี มีจอสัมผัสขนาดใหญ่ พร้อมลำโพง 8 ตัว รองรับวิทยุ/ซีดีและเนวิเกเตอร์ พร้อมบลูทูธ มีช่องเสียบ IPOD, USB, AUX และยังสะดวกสบายจากพวงมาลัยมัลติฟังก์ชันที่สามารถควบคุมเครื่องเสียง การรับโทรศัพท์ การแสดงผลมาตราวัดที่หน้าปัด ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องละมือจากพวงมาลัยในการขับขี่

มาถึงขุมพลังของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ที่มากับเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ ดีเซลเทอร์โบรุ่นใหม่ล่าสุดของจีเอ็ม รหัส XLD28 แบบ 4 สูบ 2.8 ลิตร เทอร์โบแปรผัน ให้กำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 470 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดควบคุมด้วยอิเลกทรอนิคส์ พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อที่สามารถปรับด้วยปุ่มหมุนที่บริเวณคอนโซลเกียร์

เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) นั่งนิ่ม ขับสบาย แต่แข็งแกร่งจากระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระปีกนกสองชั้น และช่วงล่างด้านหลังแบบคอยล์สปริง โครงสร้างนิรภัย พร้อมคานเสริมนิรภัย พร้อมแชสซีส์ขนาดใหญ่ให้ความมั่นใจในทุกเส้นทาง

เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ยังเพียบพร้อมด้วยระบบความปลอดภัย ที่มาช่วยเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ อาทิ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Electronic Stability Control), ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ เมื่อลงทางลาดชัน (Hill Descent Control), ระบบป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางชัน (Hill Start Assist), ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (Anti-lock Braking System), ระบบช่วยเบรกไฮโดรลิก (Hydraulic Brake Assist), ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและป้องกันการลื่นไถล (Traction Control), ระบบกระจายสัดส่วนแรงเบรก - ครั้งแรกในรถระดับนี้ (Dynamic Rear Brake Proportioning), ระบบกระจายแรงเบรกอิเลกทรอนิคส์ (Electronic Brake-force Distribution), ระบบช่วยเบรกกระทันหัน (Panic Brake Assist), ระบบควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์ป้องกันการลื่นไถล (Engine Drag Control), ถุงลมนิรภัย SRS ด้านคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า (Driver and Occupant Air Bag Protection) เป็นต้น

ช่วงทดสอบ เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer)
กับทีมงาน Auto-Thailand
ต้องยอมรับนะครับว่าเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) นั้นชื่อชั้นในตลาดเมืองไทยนั้น ก็ยังเป็นรองค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น แต่ก็มีหลายด้านที่เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ได้เปรียบอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะภาพลักษณ์สมรรถนะของรถอเนกประสงค์สไตล์อเมริกันที่ไม่ทำให้เราผิดหวัง

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หลังจากเข้าไปนั่งในตำแหน่งของผู้ขับขี่ก็สามารถสัมผัสถึงกว้างขวางใหญ่โตของห้องโดยสาร ยิ่งเมื่อหันหลังไปมองยังที่นั่งแถว 2 แถว 3 แล้วทำให้คิดถึงคำที่ว่ามันเป็นรถอเนกประสงค์จริงๆ นี่ขนาดยังไม่ได้พับเบาะ โดยเบาะของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) สามารถพับราบเพิ่มพื้นที่ในยามที่ต้องบรรทุกสัมภาระต่างๆได้อีกมากเลยทีเดียว และในเวลาที่ต้องเดินทางกันเป็นหมู่คณะ จุดเด่นอีกข้อก็คือ เบาะนั่งแถวที่ 3 นั่นทำมาให้นั่งโดยสารอย่างแท้จริง แถมเย็นสบายกับช่องแอร์หลังคาที่ส่งความเย็นได้ทั่วถึงตลอดทั้งคัน

หันกลับมาที่อุปกรณ์ต่างๆที่แผงคอนโซลด้านหน้าก็ให้มาอย่างครบครัน ในตำแหน่งผู้ขับขี่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะพวงมาลัยมัลติฟังก์ชันที่มีขนาดเหมาะมือแถมใช้ควบคุมเครื่องเสียง การรับโทรศัพท์ การแสดงผลมาตราวัดที่หน้าปัด ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติได้อย่างง่ายดาย

หลังจากปรับตั้งเบาะและอุปกรณ์ที่จำเป็นแล้ว ทีมงาน Auto-Thailand ก็พร้อมลุยไปกับเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) เริ่มเคลื่อนตัวออกสู่ท้องถนน ก็เริ่มรู้สึกถึงความกว้างใหญ่และค่อนข้างสูงของตัวรถ แต่ด้วยทีมงาน Auto-Thailand ค่อนข้างจะคุ้นชินกับรถในสไตล์นี้ทำให้ปรับตัวเข้ากันได้สบาย

จากการที่ทีมงานเราสังเกตตั้งแต่เริ่มออกตัวช่วงแรกพละกำลังจากเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ 180 แรงม้าจะสามารถแสดงพลังได้ดั่งใจคิดก็ตอนที่รอบเกิน 1500 รอบ/นาที หลังจากนั้นพละกำลังก็จะมารอให้เรียกใช้ตลอด เรียกว่าทันทีที่กดคันเร่งม้าในคอกก็พร้อมที่จะออกมาแสดงพลังให้เห็นในทันที โดยเฉพาะช่วงความเร็วประมาณ 160 กม./ชม.ก็ยังสามารถให้อัตราเร่งที่สนุกอยู่แต่เมื่อใช้ความเร็วเกินกว่านี้ก็ต้องใช้เวลาในการไต่ความเร็วกันนิดหน่อย แต่อาจต้องทำใจกับเสียงคำรามของเครื่องยนต์ที่ค่อนข้างดังไปบ้าง

อย่างที่บอกไปแล้วว่าในโหมดเกียร์ D อาจจะให้อัตราเร่งได้ไม่ปรู๊ดปราดนัก แต่เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ก็มีโหมด +/- ให้เลือกเล่นกับอัตราเร่งได้ง่ายๆ เพียงผลักคันเกียร์ไปทางซ้ายเลือกเล่นเกียร์ได้ตามความต้องการ แต่ก็ต้องแลกกับความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงบ้างในเวลาที่เราลากรอบเล่นเกียร์ แต่เท่าที่ทีมงาน Auto-Thailand ได้เดินทางทดสอบมาโดยที่ไม่ได้เน้นกับการจับอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เรียกว่าขับใช้งานกันในแบบใช้จริง ความเร็วเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 90-120 กม./ชม. มีแซง มีผ่อน ตัวเลขที่ขึ้นที่หน้าจอแสดงผลก็อยู่ประมาณ 11 กม./ลิตร บวกลบ ต้องอย่าลืมว่าน้ำหนักตัวรถขนาดนี้ แถมต้องพ่วงเกียร์ขับสี่ล้ออีก ก็ถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง

ในช่วงการขับขี่ในทางตรงสมรรถนะช่วงล่างของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) สามารถให้ความมั่นใจในการขับขี่ดีน่าพอใจ แม้ในยามที่ต้องเจอกับทางโค้งระบบช่วงล่างก็เก็บอาการใช้ได้ อาการโยนตัวที่รถอเนกประสงค์ PPV ส่วนใหญ่เป็นกันก็ออกอาการน้อยกว่าคู่แข่ง และเมื่อเราเพิ่มความเร็วในทางโค้งระบบช่วยต่างๆ ที่มีมาให้แบบจัดเต็มก็ทำงานผสานกันได้อย่างดี จึงทำให้รู้สึกถึงการขับขี่ที่มั่นใจยิ่งขึ้น แต่ตรงนี้อาจต้องฝึกฝนเรียนรู้และใช้ประสบการณ์ในการขับขี่ก็จะสามารถสนุกและปลอดภัยในเวลาเดียวกัน

ความรู้สึกในขณะจับพวงมาลัย เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ให้น้ำหนักการบังคับควบคุมพวงมาลัย ไม่หนักไม่เบาเกินไป หนืดมือกำลังดี เรียกว่าในยามใช้ความเร็วสูงสามารถเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ และในยามที่จะต้องชะลอความเร็ว หรือหยุดรถ ระบบดิสก์เบรก 4 ล้อก็สามารถหยุดได้นิ่งดั่งใจ

ส่วนในการทดลองใช้งานในระบบขับเคลื่อนสี่ล้อก็แสนจะง่ายดาย ด้วยการปรับหมุนที่ปุ่มปรับบริเวณคอนโซลเกียร์ก็สามารถใช้งานระบบขับเคลื่อนสี่ล้อได้อย่างสบาย พละกำลังในการฉุดลากเพียงพอ เรียกว่าถ้าไม่ได้ไปเข้าป่าลุยโคลนแบบออฟโรดมากมายนัก เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ก็สามารถที่จะพาคุณท่องเที่ยวและกลับบ้านได้อย่างสบาย

ทีมงาน Auto-Thailand ขอสรุปแบบนี้ เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ใหม่ รถอเนกประสงค์ PPV สไตล์อเมริกัน เด่นที่สมรรถนะช่วงล่าง การยึดเกาะถนน ความกว้างขวางสะดวกสบายของห้องโดยสาร เหลือเฟือกับพละกำลังจากเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ใหม่ จากเหตุผลที่ว่ามานี้ เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ (Chevrolet Trailblazer) ก็พร้อมลุยไปกับคุณได้ในทุกที่ทุกเส้นทางแล้วล่ะครับ