สาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนนที่นอกเหนือจากเมาแล้วขับนั้น ประมาณ 20% เกิดจากการหลับในเนื่องจากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นวัตกรรมเซ็นเซอร์ใหม่ที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์และทีมวิจัยในหลายประเทศกำลังคิดค้นพัฒนาอาจช่วยแก้ปัญหาอันตรายจากการเคลิ้มหลับขณะขับรถได้
ล่าสุดทีมนักวิจัยจาก “มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เทรนท์” (Nottingham Trent University) ในประเทศอังกฤษ คิดค้นพัฒนาเบาะที่นั่งในรถยนต์ที่ตรวจจับอาการง่วงนอนและหลับในของผู้ขับขี่
โดยทีมวิจัยกำลังดำเนินการทดสอบติดตั้งระบบเซ็นเซอร์คลื่นไฟฟ้า (ECG) ในผ้าหุ้มเบาะรถยนต์เพื่อตรวจจับอาการง่วงซึมของผู้ขับขี่ เพราะความง่วงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับยานยนต์ได้ตามข้อมูลสถิติของกรมขนส่งทางหลวงในสหราชอาณาจักร
ระบบเซ็นเซอร์ดังกล่าวใช้ในการตรวจจับสัญญาณการเต้นของหัวใจ ซึ่งบ่งบอกว่าคนขับเริ่มมีอาการไม่รู้ตัวขณะขับรถ เพราะเมื่อคนขับง่วงนอนอัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลงอย่างมาก เมื่อตรวจพบแล้วจะส่งสัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดอุบัติเหตุ
ในกรณีที่คนขับไม่ตอบสนองการแจ้งเตือน ระบบเซ็นเซอร์จะผสานงานกับเทคโนโลยีอื่นๆที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ หรือระบบเตือนการขับออกนอกเลน ซึ่งจะสั่งการควบคุมคันเร่งและเบรกโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นข้อมูลยังอาจส่งผ่านเครือข่ายไร้สายไปยังศูนย์ควบคุมเพื่อที่จะดำเนินการต่อไป
ศาสตราจารย์ติลัก ดีแอส (Tilak Dias) และศาสตราจารย์วิลเลียม เฮอร์ลีย์ (William Hurley) จากกลุ่มวิจัยสิ่งทอก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย ดำเนินการร่วมกับบริษัทเพลสซีย์ (Plessey) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้
ทีมวิจัยนำระบบเซ็นเซอร์วงจรรวมศักย์ไฟฟ้า (EPIC) ของบริษัทเพลสซีย์มาทดลองครั้งแรก โดยทั่วไปการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจในรถยนต์หมายความว่าคนขับจะต้องสวมใส่ขั้วไฟฟ้าที่ติดอยู่บนหน้าอกเปลือยเปล่า แต่เซ็นเซอร์ของบริษัทเพลสซีย์ติดตั้งภายในที่นั่งคนขับ และไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับร่างกายมนุษย์โดยตรง
เซ็นเซอร์นำมาใช้แยกสัญญาณแม่เหล็กในรถยนต์ สามารถตรวจวัดสัญญาณการเต้นของหัวใจและอ่านข้อมูลได้ถูกต้อง
อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังจำเป็นต้องปรับปรุงเซ็นเซอร์ให้มีเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพื่อนำข้อมูลมาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจ
สมาคมป้องกันอุบัติเหตุแห่งอังกฤษเปิดเผยว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากความเมื่อยล้าขณะขับรถถึง 20% ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ทำวิจัยของตนเองเพื่อติดตามสาเหตุรถชนในเยอรมนี พบว่า 25% ของอุบัติเหตุร้ายแรงทั้งหมดเป็นผลโดยตรงจากความเมื่อยล้า
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการขนส่งติดตั้งกล้องจับภาพบนคอนโซลเพื่อติดตามพฤติกรรมของพนักงานขณะขับรถ นอกจากนั้นยังมีแกดเจ็ตตรวจจับความเมื่อยล้าของผู้ขับขี่อีกหลายชนิดที่จำหน่ายอยู่ในขณะนี้ บ้างเป็นลักษณะอุปกรณ์สวมหูแบบไร้สายที่ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวศีรษะ และส่งแรงสั่นสะเทือนเบาๆ หรือส่งเสียงปลุกเมื่อเห็นอาการสัปหงก
ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาค่ายวอลโว่พัฒนาปรับปรุงระบบตรวจจับคนขับรถ เมื่อพบว่าผู้ขับขี่เสียสมาธิ ง่วงนอน หรือหลับใน สามารถสั่งการควบคุมรถโดยอัตโนมัติ
โดยวอลโว่ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์อินฟราเรดบนแผงคอนโซลหน้าเพื่อตรวจจับใบหน้า การเคลื่อนไหวนัยน์ตา และตำแหน่งศีรษะ ว่าคนขับมองถนนข้างหน้าหรือหันเหความสนใจไปทางอื่น
เทคโนโลยีดังกล่าวเคยใช้ในรถยนต์ทดสอบของวอลโว่ ซึ่งทำงานร่วมกับระบบป้องกันความปลอดภัยอื่นๆ เช่น ระบบควบคุมการขับออกนอกเลน ระบบเบรกและควบคุมพวงมาลัยโดยอัตโนมัติ ระบบควบคุมความเร็ว และระบบเตือนก่อนการชน
วอลโว่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีระบบขับอัตโนมัติเพื่อนำไปใช้งานจริง ในขณะที่เปอโยต์ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาร์ลเมอร์สสร้างระบบตรวจจับอารมณ์ผู้ขับขี่
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงรูปแบบการสาธิตความสามารถในการตรวจจับสมาธิของผู้ขับขี่ บริษัทเพลสซีย์กำลังเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐ เกี่ยวกับการฝังเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ในรถยนต์ภายในปีหน้า
ในเบื้องต้นกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เทรนท์ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบเซ็นเซอร์เบาะนั่งสำหรับคนขับรถบรรทุกเป็นกลุ่มแรก ก่อนจะขยายเข้าสู่ตลาดรถหรูในภายหลัง