บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดตัวเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยแห่งอนาคตเป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย ไร้กังวลกับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และเพลิดเพลินกับอิสระในทุกการขับเคลื่อน
ฮอนด้ามุ่งมั่นที่สร้าง “สังคมปลอดอุบัติเหตุและลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกให้เป็นศูนย์ ตามเป้าหมายการดำเนินงานปี พ.ศ. 2593” ด้วยการใช้ 2 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ ครั้งแรกในโลก*1 กับเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI-powered Intelligent Driver-Assistive Technology) ที่สามารถให้การช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความสามารถและการใช้งานของผู้ขับขี่แต่ละคน โดยช่วยลดความผิดพลาดและความเสี่ยงในการขับขี่ ทำให้ผู้ขับขี่ใช้งานได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย
พร้อมด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายสนับสนุนความปลอดภัยในการขับขี่ (Safe and Sound Network Technology) ที่เชื่อมต่อผู้ใช้ถนนทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งผู้คนและผลิตภัณฑ์เพื่อการขับเคลื่อนทั้งหมด ผ่านระบบโทรคมนาคม เพื่อช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วยคนให้เลี่ยงความเสี่ยงนั้น ๆ ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุได้
เป้าหมาย “การสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุและลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593”
ฮอนด้ามุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุแก่ผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ตามโกลบอล สโลแกนด้านความปลอดภัย “Safety for Everyone” จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุ ฮอนด้าจะขยายการติดตั้ง ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง 360 (Honda SENSING 360) ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยรอบทิศทางและระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ให้ครอบคลุมรถยนต์ทุกรุ่นที่จะวางจําหน่ายในตลาดหลักทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ ฮอนด้าจะเดินหน้าขยายการใช้งานฟังก์ชันตรวจจับรถจักรยานยนต์ และปรับปรุงฟังก์ชันต่าง ๆ ของระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (Advanced Driver-Assistant System - ADAS) ให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังเดินหน้านำเทคโนโลยีความปลอดภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ไปใช้ให้ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีความปลอดภัย (Honda Safety EdTech) ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง*2 ภายในปี พ.ศ. 2573
ยิ่งไปกว่านั้น ฮอนด้ามุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการ “ลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593” โดยจะพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยแห่งอนาคตให้พร้อมใช้งานได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
1) ความปลอดภัยที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล:
ตั้งเป้า "ลดความผิดพลาดของมนุษย์ให้เป็นศูนย์" เมื่อขับขี่ด้วยยานยนต์ที่ติดตั้ง "เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Driver-Assistive Technology)"
• ฮอนด้า พบปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความผิดพลาดของมนุษย์ โดยได้ทำการศึกษาการทำงานของสมองและการวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยเครื่องถ่ายภาพการทำงานสมองด้วยเคลื่อนแม่เหล็กไฟฟ้า (fMRI)*3
• ระบบจะคาดการณ์ข้อผิดพลาดในการขับขี่ล่วงหน้า โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากกล้องติดตามการขับขี่และลักษณะการขับขี่ในรูปแบบต่าง ๆ
• เทคโนโลยีนี้ พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดความผิดพลาดของผู้ขับขี่ และช่วยให้มั่นใจ ไร้กังวล ในทุกการเดินทาง
• ฮอนด้าจะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานให้พร้อมใช้ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 2020 (ประมาณปี พ.ศ. 2563 – 2567) และนำไปประยุกต์ใช้ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2020
ด้วยเป้าหมายที่ต้องการคลี่คลายสาเหตุของข้อผิดพลาดในการขับขี่ที่ทําให้ผู้ขับขี่เกิดความรู้สึกกังวล ฮอนด้า จึงได้ทําการวิจัยและพัฒนา "เทคโนโลยีที่เข้าใจผู้คน" ด้วยวิธีต้นแบบจากระบบ fMRI*3
นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่ทําความเข้าใจพฤติกรรมและเงื่อนไขของมนุษย์ที่ฮอนด้าได้สั่งสมมาถึงปัจจุบันแล้ว สำหรับ "เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะ" ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีแรกของโลกที่ใช้เซนเซอร์และกล้องอัจฉริยะ ADAS ในการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมของรถยนต์ ช่วยให้ AI สามารถตรวจจับความเสี่ยงในการขับขี่ได้ ในขณะเดียวกัน AI จะกําหนดพฤติกรรมการขับขี่ที่เหมาะสมที่สุดในแบบเรียลไทม์ และให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับสภาวะการรู้คิดและสถานการณ์การจราจรของผู้ขับขี่แต่ละคนได้อย่างเหมาะสม
ฮอนด้ากำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ ของระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่เจเนอเรชันใหม่
โดยมุ่งนำเสนอคุณค่าใหม่ของความปลอดภัยและความอุ่นใจที่ "ไร้ข้อผิดพลาด" ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการขับขี่และสถานการณ์ของผู้ขับขี่แต่ละคน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
< 3 คุณค่าที่ฮอนด้าจะนำเสนอในเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะ >
1. ระบบที่ไม่มีข้อผิดพลาดในการขับขี่ (ช่วยเหลือการขับขี่) ยนตรกรรมที่มีระบบ AI ช่วยควบคุมการขับขี่ เพื่อลดการลื่นไถลและป้องกันไม่ให้การทำงานของระบบล่าช้า
2. ระบบที่ไม่ต้องมีการกำกับ / ไม่มีข้อผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ (ช่วยเรื่องการรู้คิด): ยานยนต์ที่สามารถสื่อสารความเสี่ยงให้รับรู้ ผ่านประสาทสัมผัสทางสายตา ทางกายภาพ และเสียง
➣ อยู่ในขั้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ได้แก่ มาตรวัดปัจจัยความเสี่ยง การควบคุมเข็มขัดนิรภัย และระบบเสียง 3 มิติ
3. ไม่มีข้อผิดพลาดอันเกิดจากการเสียสมาธิและการขับขี่โดยประมาท (ช่วยเรื่องสมาธิ): ยานยนต์ช่วยลดความเมื่อยล้า / อาการง่วงนอนของผู้ขับขี่
➣ อยู่ในขั้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ได้แก่ ตอบสนองให้ร่างกายรับรู้ (Bio feedback) / กระตุ้นเตือนด้วยระบบสั่นที่เบาะรองหลัง
วิดีโอเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูงแห่งอนาคต เทคโนโลยีช่วยควบคุมการขับขี่อัจฉริยะของฮอนด้า: https://www.youtube.com/watch?v=M33QkZn2P88
ต่อจากนี้ ฮอนด้าจะมุ่งมั่นพัฒนา “เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะ” อย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานให้พร้อมใช้ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 2020 จากนั้น จะเริ่มนำไปประยุกต์ใช้ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2020
เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ฮอนด้าพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่แบบเดิมให้ล้ำสมัยไปอีกขั้น เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่เลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยมีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่แบบ AI เข้ามาช่วย ช่วยป้องกันความเสี่ยงของผู้ขับขี่และขจัดข้อผิดพลาดของมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเหตุที่มาของการเกิดอุบัติเหตุถึงกว่า 90%*4
2) ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
สร้างสรรค์เทคโนโลยีเครือข่ายสนับสนุนความปลอดภัยในการขับขี่ (Safe and Sound Network Technology) ที่เชื่อมโยงผู้ใช้ถนนทั้งหมดด้วยระบบการสื่อสารโทรคมนาคม
• ระบบที่เข้าใจ / ตระหนักถึงสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของผู้ขับขี่และผู้ใช้ถนนแต่ละคน
• ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในสภาพการจราจร จะถูกส่งผ่านเครือข่ายการสื่อสาร และรวบรวมเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ ระบบจะคาดการณ์ความเสี่ยงโดยจำลองสภาพแวดล้อมการจราจรขึ้นมาในโลก virtual
• ระบบจะได้รับข้อมูลสนับสนุนที่เหมาะกับสถานการณ์มากที่สุด โดยจะทำการสื่อสารไปยังผู้ใช้ถนนแต่ละคน และกระตุ้นให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง
• ฮอนด้าจะเร่งขยายความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมไปยังภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นเทคโนโลยีมาตรฐาน ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2020
เพื่อการบรรลุเป้าหมายแห่งการสร้างสังคมการขับเคลื่อน “ปลอดอุบัติเหตุ” สำหรับผู้ใช้ถนนทั้งหมด ฮอนด้า จึงมุ่งสร้าง "สังคมความปลอดภัยแบบมีส่วนร่วม" ด้วยการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้ามาช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ถนนร่วมกัน สามารถเชื่อมต่อกัน และอยู่ร่วมกันได้
ด้วย "เทคโนโลยีเครือข่ายสนับสนุนความปลอดภัยในการขับขี่” ข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในสภาพการจราจรที่ได้รับข้อมูลมาจากกล้องริมถนน กล้องที่ติดตั้งบนยานพาหนะ และสมาร์ตโฟน จะถูกรวบรวมเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมการจราจรขึ้นมาใหม่ในโลก virtual โดยจะมีการประเมินสถานการณ์และบุคลิกของผู้ใช้รถใช้ถนนแต่ละคน ระบบจะทำการคาดการณ์ / จำลองพฤติกรรมของผู้ใช้ถนนที่มีความเสี่ยงสูงต่ออุบัติเหตุ จากนั้นระบบจะได้รับข้อมูลสนับสนุนที่เหมาะกับสถานการณ์มากที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ ได้
ข้อมูลสนับสนุนดังกล่าว จะถูกส่งโดยทันที ไปยังผู้ขับรถยนต์ ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ และคนเดินเท้า ผ่าน “ระบบจัดการความเสี่ยงแบบมีส่วนร่วม HMI (Human-machine interface)" โดยระบบสามารถกระตุ้นให้ผู้ใช้รถใช้ถนนดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเลี่ยงอุบัติเหตุก่อนที่จะเกิดขึ้น
ฮอนด้าตั้งเป้าที่จะนําเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้งานจริงหลังจาก พ.ศ. 2573 โดยจะสร้างระบบและตรวจสอบประสิทธิภาพในการใช้งานให้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2020 จากนั้น จะเร่งสร้างร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม พร้อมภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายทำให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2020
ความเห็นของนายเคอิจิ โอสึ (Keiji Ohtsu) ประธานและตัวแทนผู้อำนวยการ บริษัท ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี จำกัด
"ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขจัดความเสี่ยงด้านการขับเคลื่อนเพื่อทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ฮอนด้า ต้องการที่จะส่งมอบคุณค่าใหม่ด้านความปลอดภัยและความอุ่นใจให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยแห่งอนาคตของเรา ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ โดยฮอนด้าจะเดินหน้าสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุและลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 เพื่อให้เป็นสังคมที่ผู้ใช้ถนนทุกคนต่างดูแลซึ่งกันและกัน และเดินทางได้อย่างอิสระตามที่ต้องการ เราจึงเร่งดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม พร้อมด้วยภาครัฐและเอกชน ให้ก้าวหน้าต่อไป"