ผลการศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2559 โดย เจ.ดี.พาวเวอร์ (J.D. Power 2016 Thailand Automotive Performance, Execution and Layout (APEAL) Study,SM) เปิดเผยในวันนี้ว่า รูปลักษณ์ความสวยงามและสมรรถนะโดยรวมของรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยมีการปรับปรุงขึ้นในทุกประเภทรถยนต์
คะแนนเฉลี่ยโดยรวมของ APEAL อยู่ที่ 901 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน) ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก 883 คะแนน ในปี 2558โดยคะแนนเพิ่มขึ้นในทุกประเภทรถยนต์ เมื่อเปรียบเทียบปีต่อปี โดยรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงมีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุดจากปี 2558 (+28 คะแนนโดยเฉลี่ย) ตามมาด้วยรถกระบะและรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (+20 และ +10 คะแนน ตามลำดับ)
“ผู้ผลิตรถยนต์ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงรูปลักษณ์ของรถยนต์ให้มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงและรถกระบะรุ่นใหม่หรือรุ่นปรับโฉม” ศิรส สาตราภัย ผู้จัดการ เจ.ดี. พาวเวอร์ กล่าว “อย่างไรก็ตาม ขณะที่ความพึงพอใจในรถใหม่เพิ่มขึ้นในแทบทุกองค์ประกอบของรถยนต์ แต่องค์ประกอบในเรื่องความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงกลับมีคะแนนที่ลดต่ำลงอย่างมาก (มากกว่า 20 คะแนน) ในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการไม่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและการให้ข้อมูลที่เกินจริงในเรื่องตัวเลขการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้การขับขี่ปกติ”
ในปี 2559 ภาครัฐได้ออกข้อบังคับให้รถยนต์ใหม่ทุกประเภทในโชว์รูมต้องติดป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล หรือ Eco Sticker ซึ่งแสดงข้อมูลอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตัวรถยนต์
“ข้อมูลบนป้ายอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะข้อมูลที่แสดงอ้างอิงมาจากเงื่อนไขการทดลองในห้องปฎิบัติการ” ศิรส กล่าว “ผู้บริโภคได้ตั้งความคาดหวังหลังจากที่ได้รับรู้ข้อมูลที่แสดงบนป้าย และกว่าจะตระหนักว่าการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงจริง ๆ นั้นมีความแตกต่างจากข้อมูลที่แสดง ตามแต่ลักษณะเส้นทางและการขับขี่ในชีวิตประจำวันของเขาเหล่านั้น ก็ต่อเมื่อหลังจากที่เขาได้เป็นเจ้าของรถแล้วเท่านั้น”
การศึกษาวิจัยยังพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าของรถยนต์ใหม่คันแรก ซึ่งมีสัดส่วน 48% ของผู้ซื้อ มีความพึงพอใจรูปลักษณ์ความสวยงามและสมรรถนะโดยรวมต่อรถยนต์ของตนน้อยกว่าผู้ซื้อที่เคยเป็นเจ้าของรถยนต์มาแล้วเป็นอย่างมาก (890 คะแนน ต่อ 910 คะแนน ตามลำดับ) การทดลองขับเป็นวิธีที่ได้ผลในการเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งความพึงพอใจจะอยู่ในระดับสูงในกลุ่มผู้ที่ได้ทดลองขับ ซึ่งสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ทดลองขับอย่างมาก (903 คะแนน ต่อ 872 คะแนน ตามลำดับ) และเมื่อเปรียบเทียบผู้ซื้อรถใหม่คันแรกกับผู้ซื้อที่เคยเป็นเจ้าของรถยนต์มาแล้ว การทดลองขับสร้างความแตกต่างของความพึงพอใจที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ซื้อรถใหม่คันแรกเทียบกับผู้ซื้อที่เคยเป็นเจ้าของรถยนต์มาแล้ว (+35 คะแนน ต่อ +24 คะแนน ตามลำดับ)
ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจ:
• สไตล์และทัศนวิสัยในการขับขี่ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของรถยนต์ต้องการ: คุณลักษณะของรถยนต์โดยรวมที่ได้คะแนนความพึงพอใจสูงสุด 5 หัวข้อ ได้แก่ รูปลักษณ์การออกแบบด้านข้างรถ; ทัศนวิสัยด้านหน้าจากตำแหน่งที่นั่งของคนขับ; รูปลักษณ์ของสีที่เห็นภายนอกตัวรถ; ความอำนวยประโยชน์ของปุ่ม/ ก้านสัญญาณเลี้ยวบนพวงมาลัย และความง่ายต่อการมองเห็น/ อ่านปุ่มควบคุม/ หน้าจอในขณะขับ โดยคุณลักษณะที่ได้คะแนนต่ำสุด ได้แก่ เบาะที่นั่ง — โดยเฉพาะ ความสามารถในการทนต่อการเปื้อน อมฝุ่นง่าย; ความง่ายต่อการควบคุม/ ปรับที่นั่งด้านหลัง และที่นั่งสามารถพับเก็บ หรือปรับเปลี่ยนได้หลายทิศทาง — รวมทั้งปัญหาจากพื้นที่เก็บของและเครื่องเสียง ซึ่งเป็นเรื่องของความอำนวยประโยชน์ของที่วางแก้วด้านหลัง และคุณภาพเสียงของเบส
• ความต้องการระบบช่วยเหลืออัตโนมัติ: ระบบอัตโนมัติเป็นคุณลักษณะที่ผู้ซื้อรถใหม่ต้องการมากที่สุด โดยระบบล็อกอัตโนมัติเป็นระบบที่เจ้าของรถยนต์ต้องการมากที่สุด ซึ่ง 90% ของผู้ซื้อรถใหม่ กล่าวว่าต้องการให้มีระบบนี้ในรถคันต่อไปของตน “อย่างแน่นอน” ถัดมาคือ กระจกมองข้างปรับไฟฟ้า (89%), พวงมาลัยพาวเวอร์ (88%) และกระจกมองข้างพับเก็บไฟฟ้า (87%)
• สไตล์ช่วยให้ความภักดีเพิ่มขึ้น: ในกลุ่มลูกค้าที่มีความพึงพอใจอย่างมาก (โดยให้คะแนนความพึงพอใจ 10 คะแนนเต็มจากระดับคะแนน 1-10 คะแนน) กับรถยนต์คันใหม่ในภาพรวม 84% ของลูกค้าที่มีความพึงพอใจอย่างมากกลุ่มนี้บอกว่าจะแนะนำรุ่นรถที่พวกเขาใช้อยู่ต่อผู้อื่น “อย่างแน่นอน” และ 71% บอกว่าจะซื้อยี่ห้อเดิมอีก “อย่างแน่นอน” ส่วนกลุ่มลูกค้าที่รู้สึกผิดหวังหรือเฉยๆ (ให้คะแนน 1 ถึง 7 คะแนน) มีเพียง 33% เท่านั้น ที่บอกว่าจะแนะนำรุ่นรถที่พวกเขาใช้อยู่ “อย่างแน่นอน” และมีเพียง 22% เท่านั้น ที่บอกว่าจะซื้อยี่ห้อเดิมอีก “อย่างแน่นอน”
ผลการจัดอันดับจากการศึกษาวิจัย
ฮอนด้าคว้า 3 รางวัล APEAL: แจ๊ส (898 คะแนน) รับรางวัลประเภทรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น; ซีวิค (908 คะแนน) รับรางวัลประเภทรถยนต์ขนาดกลาง และเอชอาร์-วี (913 คะแนน) รับรางวัลประเภทรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก
ซูซูกิ เซียส (894 คะแนน) รับรางวัลประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ (908 คะแนน) รับรางวัลรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ มิตซูบิชิ ไทรทัน พลัส เอ็กซ์-แค๊ป (922 คะแนน) รับรางวัลประเภทรถยนต์กระบะตอนขยาย และฟอร์ด เรนเจอร์ ดี-แค๊ป (923 คะแนน) รับรางวัลประเภทรถยนต์กระบะ 4 ประตู
ข้อมูลการศึกษาวิจัย
ปีนี้นับเป็นปีที่ 14 ของการศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ หรือ APEAL ในประเทศไทย ซึ่งใช้คำตอบของเจ้าของรถยนต์ในประเทศไทยเป็นมาตรวัดถึงสิ่งที่ทำให้เจ้าของรถมีความพึงพอใจต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่ของพวกเขาในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์เกือบ 100 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบของรถยนต์ 10 หมวดหมู่ ได้แก่ ภายนอกตัวรถ, ภายในตัวรถ, พื้นที่เก็บของและพื้นที่ว่าง, เครื่องเสียง/ ความบันเทิง/ ระบบนำทาง, ที่นั่ง, ระบบฮีทเตอร์, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC), สมรรถนะในการขับขี่, เครื่องยนต์/ ระบบเกียร์, ทัศนวิสัย และความปลอดภัยในการขับขี่ และความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ผลการศึกษาวิจัย APEAL จะถูกแสดงในรูปค่าดัชนีจากการให้คะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน คะแนนที่สูงกว่าแสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจที่มากกว่าที่มีต่อรถยนต์รุ่นนั้นๆ
การศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ (APEAL) ในประเทศไทย ประจำปี 2559 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถใหม่จำนวน 4,813 รายที่ซื้อรถในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์จำนวนทั้ง 82 รุ่น จากทั้งหมด 13 ยี่ห้อ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน 2559