บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ประกาศเริ่มการทดสอบระบบบ้านพลังงานอัจฉริยะฮอนด้า (Honda Smart Home System หรือ HSHS) ซึ่งก่อสร้างขึ้นในจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมสาธิตระบบการจัดการพลังงานภายในบ้าน อาทิ การผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ควบคู่ไปกับการใช้ยานยนต์เป็นแหล่งพลังงาน เพื่อตอบสนองผู้อยู่อาศัยอย่าง ชาญฉลาด ระบบ HSHS ได้รับการออกแบบให้ผู้ใช้สามารถสำรองพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ภายในบ้าน และใช้เพื่อการเดินทาง จึงช่วยให้ผู้อยู่อาศัยดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ในภาวะที่มีภัยพิบัติ ระบบ HSHS ที่ติดตั้งในบ้านตัวอย่างพลังงานอัจฉริยะ ประกอบด้วย แผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบแผ่นฟิล์มบาง CIGS แบตเตอรี่บ้าน (ที่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้) เครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊ส และระบบเครื่องทำน้ำร้อน และหน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart e Mix Manager) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ HSHS โดยทำหน้าที่บริหาร และจัดสรรพลังงานให้เหมาะสมกับอุปกรณ์พลังงานแต่ละประเภท หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart e Mix Manager) จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้พลังงานภายในบ้านลงได้ บ้านจึงสามารถผลิตพลังงานใช้ได้เองโดยอิสระ และสามารถเก็บพลังงานสำรองไว้ใช้เมื่อเกิดภาวะไฟตก หรือในภาวะที่มีภัยพิบัติ ด้วยความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ “ผลิตภัณฑ์ที่มอบความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้คนในสังคม” เพื่อ “การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมอันยั่งยืน” ฮอนด้าจึงได้เดินหน้าทดสอบระบบ HSHS ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า และระบบอินเตอร์นาวิ (Internavi system) จากการทดสอบครั้งนี้ ฮอนด้าตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 50% (เทียบจากปี 2543) และค้นหาแนวทางการพัฒนายานพาหนะส่วนบุคคลในอนาคต นอกจากนี้ ฮอนด้ายังได้ทดสอบฟังก์ชั่นพลังงานสำรองสำหรับการใช้งานภายในครัวเรือน เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของลูกค้าอีกด้วย เป้าหมายการทดสอบอุปกรณ์พลังงาน ที่ได้รับการติดตั้งในบ้านตัวอย่างพลังงานอัจฉริยะ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของฮอนด้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน และการเดินทางโดยใช้ยานพาหนะ โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ฮอนด้าได้ลงนามข้อตกลงในโครงการอี-คิซูนะ (E-KIZUNA) ซึ่งดำเนินการโดยจังหวัดไซตามะ การสาธิตการทดสอบบ้านที่ได้รับการติดตั้งระบบ HSHS เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ E-KIZUNA ซึ่งฮอนด้าได้สร้างบ้านจำนวน 2 หลัง (แต่ละหลังเป็นบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยว) ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยไซตามะ ส่วนบ้านหลังที่ 3 มีแผนการสร้างในบริเวณเดียวกัน โดยบ้านทั้ง 3 หลังจะเชื่อมโยงถึงกันเพื่อการทดสอบในลักษณะชุมชนอัจฉริยะ และมีแผนที่จะดำเนินการทดสอบอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2561 เครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊ส เครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊สของฮอนด้าเป็นอุปกรณ์พลังงานที่มีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสามารถผลิตพลังงานความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประมาณ 60% ของพลังงานที่ใช้ภายในบ้านของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการทำน้ำร้อน ระบบทำความร้อน และการใช้งานในห้องครัว ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นของ EXlink ที่ช่วยยืดจังหวะของเครื่องยนต์ให้นานขึ้น จึงสามารถผลิตพลังงานได้เพิ่มขึ้นถึง 92% ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และพลังงานความร้อนได้พร้อมๆ กันจากแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากท่อส่งแก๊ส หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว ในการดำเนินการทดสอบ ฮอนด้าจะศึกษาระบบการกำเนิดพลังงานโดยใช้แบตเตอรี่ และตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานในภาวะฉุกเฉิน แผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบแผ่นฟิล์มบาง CIGS ฮอนด้าจะทดสอบประสิทธิภาพการผลิตพลังงานของแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบแผ่นฟิล์มบาง CIGS รุ่นใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนา (CIGS ประกอบด้วยทองแดง อินเดียม แกลเลียม และซิลิเนียม) แบตเตอรี่บ้าน ด้วยความพยายามในการนำแบตเตอรรี่ที่ใช้ในรถจักรยานยนต์และรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ใหม่ ฮอนด้ามุ่งมั่นพัฒนาแบตเตอรี่บ้าน เพื่อการใช้งานได้อย่างสะดวกมากขึ้น และดำเนินการทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ อีกด้วย หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart e Mix Manager) หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะจะรวบรวมข้อมูลระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์พลังงานแต่ละประเภทและเชื่อมต่ออุปกรณ์แต่ละตัวที่อยู่ในระบบ HSHS เพื่อวิเคราะห์การใช้พลังงานภายในครัวเรือนแบบองค์รวม จากผลการวิเคราะห์ หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะจะบริหารและจัดสรรพลังงานอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นจะแสดงบนจอมอนิเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถเลือกโหมดประหยัดค่าใช้จ่าย ที่มีการคำนวณข้อมูลล่าสุดจากบิลค่าแก๊ส และบิลค่าไฟฟ้า หรือจะเลือกให้หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะอยู่ในโหมดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยอ้างอิงจากข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบ้านในขณะนั้น นอกจากนี้ หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะ จะแสดงข้อมูลของอุปกรณ์พลังงานแต่ละประเภทรวมไว้บนหน้าจอ ผู้ใช้สามารถควบคุมการทำงานบนหน้าจอผ่านระบบ LAN ไร้สาย หรือเมื่ออยู่นอกบ้านก็สามารถควบคุมผ่านระบบฮอนด้า Internavi ซึ่งเป็นระบบนำทางรถยนต์ หรือผ่านสมาร์ทโฟนได้ ด้วยความมุ่งมั่นในการคิดค้นและพัฒนาหน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะ ฮอนด้าจะดำเนินการทดสอบระบบการจัดการพลังงานอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การทำงานร่วมกับยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า ฮอนด้าจะทดสอบการใช้พลังงานภายในครัวเรือนอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้หน่วยจัดการพลังงานอัจฉริยะควบคุมการชาร์จพลังงานไฟฟ้าในยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และยานยนต์พลังงานไฮบริดปลั๊ก-อิน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างระบบพลังงานสำรองสำหรับการใช้งานภายในครัวเรือน ฮอนด้าจะพัฒนาและทดสอบวิธีการเก็บพลังงานสำรองภายในครัวเรือน ที่อาจมีความจำเป็นต้องใช้เมื่อเกิดภาวะไฟตก หรือในภาวะที่มีภัยพิบัติ ซึ่งวิธีการดังกล่าวรวมถึงการพัฒนาการทำงานร่วมกันของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊ส หรือเครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊สที่มีระบบเริ่มการทำงานได้ด้วยตัวเอง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดการใช้พลังงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ฮอนด้าจึงศึกษาและทดสอบระบบการชาร์จไฟฟ้า “vehicle-to-home” ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า อาทิ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิงพลังงานไฟฟ้า และยานยนต์พลังงานไฮบริดปลั๊ก-อิน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำหรับ การใช้ภายในครัวเรือน ทดสอบระบบบริการข้อมูลหลักสำหรับการทำงานร่วมกับระบบ Internavi ฮอนด้าจะทดสอบระบบบริการข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างยานพาหนะ บ้าน สังคม และการควบคุมระบบการจ่ายไฟฟ้า 1. ด้านความปลอดภัย • ระบบแจ้งเตือนเมื่อมีผู้มาเยือน • จัดเตรียมคู่มือแนะนำการใช้อุปกรณ์พลังงานแต่ละประเภทในภาวะฉุกเฉิน • ระบบแจ้งเตือนหากไม่มีการปิดเครื่องปรับอากาศ และ/หรือหลอดไฟ ก่อนผู้ใช้ออกจากบ้าน 2. ความสะดวกสบาย • ควบคุมการทำงานเครื่องใช้ไฟฟ้าจากระยะไกล (เครื่องปรับอากาศ/หลอดไฟ) • ควบคุมการทำงานจากระยะไกล ด้วยฟังก์ชั่นการสั่งงานด้วยเสียงผ่านระบบ Internavi • ช่วยให้ผู้ใช้เปิดระบบน้ำร้อนในอ่างอาบน้ำ หรือล็อคประตูเมื่ออยู่นอกบ้านได้ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม (แสดงข้อมูลบนจอมอนิเตอร์) • ข้อมูลพลังงานไฟฟ้า (ปริมาณไฟฟ้าที่ระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊สสามารถผลิตได้ ปริมาณการชาร์จและการปล่อยกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละชั้นของบ้าน การแจ้งสถานะระดับแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ของแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ และแบตเตอรี่ของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า สถานะเมื่อเกิดภาวะไฟตก และเมื่อกลับสู่สภาวะปกติ) • ข้อมูลพลังงานความร้อน (ปริมาณความร้อนที่เครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊สสามารถผลิตได้ อุณหภูมิของน้ำร้อน อุณหภูมิของน้ำในอ่างอาบน้ำ อุณหภูมิห้องในแต่ละห้อง) • ข้อมูลค่าใช้จ่าย (บิลค่าไฟฟ้า ยอดการขายหน่วยไฟฟ้า บิลค่าแก๊ส และบิลค่าน้ำ) • ข้อมูลอื่นๆ (พยากรณ์อากาศ ระบบแจ้งเตือนเมื่ออุปกรณ์แต่ละประเภทไม่ทำงาน) • ระบบควบคุมจากระยะไกล (ก๊อกน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ หลอดไฟ ระบบล็อคประตูเมื่ออยู่นอกบ้าน) ผลการทดสอบบ้านตัวอย่างพลังงานอัจฉริยะ จะทำให้ฮอนด้าสามารถต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน อาทิ แผงพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องกำเนิดพลังงานแบบใช้แก๊ส และนำไปสู่การจัดการพลังงานแบบองค์รวมภายในครัวเรือน และในชุมชน ฮอนด้าตั้งเป้าหมายที่จะทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อสร้างสรรค์ไลฟ์สไตล์ที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมคาร์บอนต่ำ