ผลการศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2560 โดยเจ.ดี.พาวเวอร์ (J.D. Power 2017 Thailand Automotive Performance, Execution and Layout (APEAL) Study,SM) เปิดเผยในวันนี้ว่า ภายในตัวรถถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญสูงสุดที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความน่าดึงดูดใจของรถยนต์ จากทั้งหมด 10 องค์ประกอบ
ความสำคัญของการออกแบบภายในตัวรถและความสะดวกสบายต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อความพึงพอใจโดยรวมของเจ้าของรถยนต์ใหม่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2559 ในทุกกลุ่มประเภทรถยนต์ องค์ประกอบภายในตัวรถ — เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้รถยนต์มีความน่าดึงดูดใจ — เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดจากทั้งหมด 10 องค์ประกอบในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ การประเมินองค์ประกอบภายในตัวรถเป็นการประเมินรายละเอียดการออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แผงหน้าปัด, คอนโซล และแสงไฟภายในห้องโดยสาร; รวมถึงการประเมินด้านความสะดวกสบายต่างๆ เช่น ความเงียบภายในห้องโดยสาร, กลิ่นภายในห้องโดยสาร; และส่วนประกอบต่างๆ ภายในห้องโดยสารที่ให้สัมผัสที่นุ่มนวล เช่น ที่พักแขน และแผงข้างประตู คุณภาพที่สัมผัสได้และโทนสีที่เข้ากันของวัสดุในห้องโดยสารก็ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญเช่นกัน
“จากการที่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ต้องใช้เวลาอยู่ในรถของตนนานขึ้น เนื่องด้วยเวลาที่ใช้ในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่อการออกแบบภายในตัวรถ โดยเฉพาะด้านความสะดวกสบายจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” ศิรส สาตราภัย ผู้จัดการ เจ.ดี. พาวเวอร์ กล่าว “ตัวอย่างเช่น ความเงียบภายในห้องโดยสารถือเป็นคุณลักษณะที่เจ้าของรถยนต์ให้ความสำคัญสูงสุด เนื่องจากเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของรถยนต์ที่เจ้าของรถยนต์ให้คะแนนความพึงพอใจต่ำสุดในทุกกลุ่มประเภทรถยนต์หรืออีกนัยหนึ่งก็คือลูกค้ามีความคาดหวังต่อคุณลักษณะดังกล่าวในระดับสูง นอกจากนี้ เจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยังรายงานถึงความไม่สะดวกสบายของที่พักแขนในขณะขับขี่ ค่ายรถยนต์ที่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านี้ของลูกค้าได้ ย่อมมีโอกาสเห็นความพึงพอใจที่เพิ่มสูงขึ้น”
คะแนนเฉลี่ยโดยรวมของ APEAL อยู่ที่ 908 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน) ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 901 คะแนน ในปี 2559 โดยคะแนนเพิ่มขึ้นในทุกประเภทรถยนต์ ยกเว้นรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบปีต่อปี ความพึงพอใจยังเพิ่มสูงขึ้นในทุกองค์ประกอบของรถยนต์ โดยเฉพาะที่นั่ง (+11 คะแนน) และสมรรถนะในการขับขี่ (+10 คะแนน)
จากการศึกษายังพบอีกว่าลูกค้าที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพรถยนต์น้อยกว่าที่คาดไว้จะรู้สึกว่ารถยนต์มีความน่าดึงดูดใจ (919 คะแนน) มากที่สุด และมากกว่าผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพรถยนต์เท่ากับหรือมากกว่าที่คาดไว้ (897 และ 885 คะแนน ตามลำดับ)
ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจ:
• รูปแบบภายนอกยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อของผู้ขับขี่: เกือบ 1 ใน 4 ของลูกค้า (24%) กล่าวว่า รูปแบบภายนอกเป็นเหตุผลหลักในการเลือกซื้อรถยนต์คันใหม่ ตามมาด้วยสมรรถนะของรถยนต์ (19%), ประสบการณ์ก่อนหน้าที่มีกับรถยนต์ยี่ห้อนี้ (10%) และความมีประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง (10%)
• เครื่องเสียง, ความบันเทิง และระบบนำทาง ยังต้องปรับปรุง: คุณลักษณะต่างๆ ของเครื่องเสียงและระบบนำทางอยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนความพึงพอใจต่ำสุด โดยเฉพาะเรื่องความสามารถของระบบนำทางในการให้ข้อมูลของเส้นทางที่ต้องการ และความง่ายในการใช้งาน รวมถึงคุณภาพของเสียงเบสและความชัดเจนของเสียงเวลาที่ปรับเป็นเสียงดัง
• ความสนุกในการขับขี่ช่วยเพิ่มความพึงพอใจ: กลุ่มลูกค้าที่มีความพึงพอใจอย่างมาก (โดยให้คะแนนความพึงพอใจ 10 คะแนนเต็มจากระดับคะแนน 1-10 คะแนน) ต่อความน่าดึงดูดใจของรถยนต์โดยรวม 51% ของลูกค้ากลุ่มนี้กล่าวว่า รู้สึกสนุกกับการขับขี่รถยนต์ใหม่คันนี้ เทียบกับลูกค้าที่พอใจ (ให้คะแนน 8 ถึง 9 คะแนน) กลุ่มนี้มีเพียง 24% เท่านั้น ที่กล่าวว่ารู้สึกสนุกกับการขับขี่รถยนต์ใหม่คันนี้ นอกจากนี้ มีเพียง 11% ของลูกค้าที่ผิดหวังหรือเฉยๆ (ให้คะแนน 1-7 คะแนน) ที่บอกว่ารถขับสนุก
ผลการจัดอันดับจากการศึกษาวิจัย
โตโยต้า คว้า 4 รางวัล APEAL: วีออส (900 คะแนน) คว้ารางวัลในกลุ่มประเภทรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น; ฟอร์จูนเนอร์ (927) ในกลุ่มประเภทรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่; ไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ สมาร์ท แค๊ป (914) ในกลุ่มประเภทรถกระบะตอนขยาย; และไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ ดี-แค๊ป (923) ในกลุ่มประเภทรถกระบะ 4 ประตู
ซูซูกิ คว้ารางวัลในกลุ่มประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก ได้แก่ เซียส (897) ฮอนด้าคว้ารางวัลในกลุ่มประเภทรถยนต์ขนาดกลาง ได้แก่ ซีวิค (926) มาสด้าคว้ารางวัลในกลุ่มประเภทรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก ได้แก่ ซีเอ็กซ์-3 (915)
การศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ (APEAL) ในประเทศไทย ประจำปี 2560 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถใหม่จำนวน 4,866 รายที่ซื้อรถในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์จำนวนทั้ง 76 รุ่น จากทั้งหมด 12 ยี่ห้อ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน 2560
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้คำตอบของเจ้าของรถยนต์ในประเทศไทยเป็นมาตรวัดถึงสิ่งที่ทำให้เจ้าของรถมีความพึงพอใจต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่ของพวกเขาในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์เกือบ 100 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบของรถยนต์ 10 หมวดหมู่ ได้แก่ ภายนอกตัวรถ; ภายในตัวรถ; พื้นที่เก็บของและพื้นที่ว่าง; เครื่องเสียง/ ความบันเทิง/ ระบบนำทาง; ที่นั่ง; ระบบฮีทเตอร์; ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC); สมรรถนะในการขับขี่; เครื่องยนต์/ ระบบเกียร์; ทัศนวิสัย และความปลอดภัยในการขับขี่; และความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
เจ.ดี.พาวเวอร์ การศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ ของรถยนต์ในประเทศไทย (APEAL) ประจำปี 2560
สามลำดับแรกของแต่ละประเภทรถยนต์ที่มีคะแนน APEAL สูงสุด