บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย จัดพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าแห่งใหม่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 17,150 ล้านบาท ตอกย้ำพันธสัญญาในการเติบโตเคียงข้างสังคมไทยตลอดไป โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะมีกำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี พร้อมเริ่มเดินสายการผลิตได้ในปี 2558 และสร้างโอกาสในการจ้างงานประมาณ 2,500 อัตรา
พิธีวางศิลาฤกษ์จัดขึ้นบริเวณพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี และมร. ชิเกะคะสุ ซะโต เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ข้าราชการระดับสูง ร่วมด้วยคณะผู้บริหารฮอนด้า ซึ่งนำโดย มร.ทาคาโนบุ อิโต้ ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด พร้อมทั้งพันธมิตรคู่ค้าทางธุรกิจ และผู้จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าร่วมพิธีอย่างคับคั่ง

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในปี 2555 ที่ผ่านมา ถือเป็นประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่สามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งยอดขายในประเทศ ยอดการส่งออก และยอดการผลิต ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 2 ล้านคันต่อปีเป็นครั้งแรก
สำหรับพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานแห่งที่ 2 ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในวันนี้ แสดงถึงการกลับมาอย่างแข็งแกร่งของฮอนด้า และความเชื่อมั่นของฮอนด้าที่มีต่อประเทศไทย ที่เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตหลัก อีกทั้งยังทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มการจ้างงานให้กับคนไทย และนับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเติบโตอย่างมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศต่อไป"
มร. ทาคาโนบุ อิโต้ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า "ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีของการดำเนินงานในประเทศไทย ฮอนด้ามีความผูกพันกับคนไทยและสังคมไทยอย่างแน่นแฟ้น ทั้งยังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากลูกค้าชาวไทย และรัฐบาลไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ มาได้ด้วยดีเสมอ
ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2560 ฮอนด้ามีเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อที่จะส่งมอบความสุขในการใช้รถยนต์ฮอนด้าให้กับลูกค้าทั่วโลกมากถึง 6 ล้านคน การก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าแห่งใหม่ที่จังหวัดปราจีนบุรีนี้ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่จะมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยโรงงานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายในการสร้างฐานการผลิตในพื้นที่ที่ใกล้กับลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นฐานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฐานการผลิตรถยนต์และยังเป็นหนึ่งในตลาดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของฮอนด้าในภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนียมาโดยตลอด”
มร. ฮิโรชิ โคบายาชิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ฮอนด้าได้ประกาศการลงทุนเพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าแห่งใหม่ ที่จังหวัดปราจีนบุรี มูลค่า 17,150 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะผลิตรถยนต์ประเภทซับคอมแพคท์ เพื่อรองรับตลาดในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา กลุ่มประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
“โรงงานแห่งใหม่ที่ปราจีนบุรีจะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยจะนำนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัยของโรงงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่เมืองโยริอิ ประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอนและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่กระบวนการเชื่อมตัวถัง การพ่นสี ไปจนถึงการประกอบรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีระบบการใช้น้ำหมุนเวียน เพื่อลดการใช้น้ำในทุกขั้นตอนการผลิตอีกด้วย"
นอกจากนี้ ยังได้ประกาศการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกมูลค่า 2,910 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิต 280,000 คันต่อปี และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 300,000 คันต่อปีภายในต้นปี 2557 เมื่อรวมกำลังการผลิตจากโรงงานทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน ฮอนด้าจะมีกำลังการผลิตรวมที่ 420,000 คันต่อปี ในปี 2558
มร. โคบายาชิ กล่าวเสริมว่า “เมื่อเดือนมีนาคม 2555 กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทยได้ร่วมกันก่อตั้งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยในยามที่อาจจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัจจุบัน มีเงินสมทบเข้ากองทุนแล้วเป็นจำนวน 500 ล้านบาท และได้นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง ล่าสุด กองทุนฯ ยังได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 14.4 ล้านบาทให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อดำเนินงานโครงการแก้มลิงโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ ได้มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรเพื่อยังชีพตลอดทั้งปี”
"ฮอนด้าจะมุ่งมั่นคิดค้นยนตรกรรมที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเดินหน้าสานต่อปณิธานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานต่อไปในอนาคต ภายใต้แนวคิด “Blue Skies for Our Children” พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับสังคมไทย สมดังเจตนารมณ์ของฮอนด้าในการเป็นองค์กรที่สังคมไทยต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไป มร. ทาคาโนบุ อิโต้ กล่าวทิ้งท้าย
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
ก่อตั้ง พ.ศ. 2526 ในชื่อบริษัท ฮอนด้า คาร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
พ.ศ. 2543 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
มูลค่าการลงทุนเริ่มต้น 5,460 ล้านบาท
สัดส่วนการลงทุน บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 75.94
บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 13.05
อื่นๆ ร้อยละ 11.01
ผู้บริหารสูงสุด มร. ฮิโรชิ โคบายาชิ ประธานกรรมการบริหาร
ที่ตั้ง สำนักงานใหญ่บางนา กรุงเทพมหานคร
และโรงงานผลิตรถยนต์ที่ จ. พระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย
ประเภทธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายรถยนต์
โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ที่ตั้ง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พื้นที่ 530 ไร่ รวมทั้ง 2 สายพานการผลิต
รุ่นผลิต บริโอ้, บริโอ้ อเมซ, แจ๊ซ, แจ๊ซ ไฮบริด, ซิตี้, ซิตี้ ซีเอ็นจี, ซีวิค, ซีวิค ไฮบริด แอคคอร์ด และซีอาร์-วี
กำลังการผลิต 280,000 คันต่อปี (เพิ่มขึ้นเป็น 300,000 คันภายในต้นปี 2557)
จำนวนพนักงาน มากกว่า 6,600 คน (รวมทั้ง 2 สายพานการผลิต)
มาตรฐานรับรอง มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001
มาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001
การส่งออก ผลิตส่งออกไปยัง 65 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ประเทศในอาเซียน
โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศในแถบแคริบเบียน
บันทึกเหตุการณ์ครั้งสำคัญของบริษัท
พ.ศ. 2527 • เริ่มการผลิตรถยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย
พ.ศ. 2539 • เปิดโรงงานแห่งแรกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. 2540 • เริ่มการส่งออกรถยนต์ฮอนด้า ซิตี้
พ.ศ. 2541 • ส่งออกรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด
พ.ศ. 2542 • ส่งออกรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค
พ.ศ. 2543 • ผลิตรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 40,000 คัน โดยมียอดการส่งออกรวมที่ 6,000 คัน
พ.ศ. 2545 • ผลิตฝาสูบและเสื้อสูบ
พ.ศ. 2546 • ยอดการส่งออกรวมของรถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ ซีวิค และแอคคอร์ดกว่า 37,000 คัน
พ.ศ. 2547 • เริ่มการส่งออกรถยนต์ฮอนด้า แจ๊ซ และมียอดการส่งออกรวมกว่า 44,000 คัน
พ.ศ. 2548 • ผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป ผลิตฝาสูบและเสื้อสูบเครื่องยนต์ • ลงทุนเพิ่มในโรงงานฉีดขึ้นรูปชิ้นส่วนพลาสติกความเร็วสูงและเครื่องจักรหล่อชิ้นงานแบบหมุนเหวี่ยง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ฮอนด้านำเครื่องจักรเหล่านี้มาใช้ในเอเชีย นอกจากประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2549 • ลงทุนเพิ่มในโรงงานผลิตเพลาลูกเบี้ยว เพลาข้อเหวี่ยง และก้านสูบ รวมทั้งระบบมัลติเทสเตอร์ไดรเวอร์ซิสเต็มส์และศูนย์ทดสอบประสิทธิภาพเครื่องยนต์ • เริ่มการส่งออกรถยนต์ฮอนด้า ซีอาร์-วี
พ.ศ. 2550 • กำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี
พ.ศ. 2551 • เปิดสายพานการผลิตที่ 2 ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานเดิม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
มีนาคม พ.ศ. 2555 • กลับมาเดินสายการผลิตอีกครั้ง หลังหยุดการผลิตนาน 6 เดือน จากเหตุอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554
มกราคม พ.ศ. 2556 • ปรับเพิ่มกำลังการผลิตจาก 240,000 คัน เป็น 280,000 คัน
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 • ประกาศการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลค่า 2,910 ล้านบาท
• ประกาศการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าแห่งใหม่ ที่จังหวัดปราจีนบุรี มูลค่า 17,150 ล้านบาท
โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี
เงินลงทุน 17,150 ล้านบาท
ที่ตั้ง จังหวัดปราจีนบุรี
พื้นที่ ที่ดินทั้งหมดรวมกว่า 1,600 ไร่ (ประมาณ 2.56 ล้านตารางเมตร)
โดยมีพื้นที่อาคารสำนักงานและอาคารโรงงาน 134 ไร่ (ประมาณ 214,000 ตารางเมตร)
รุ่นผลิต รถยนต์ซับคอมแพคท์
กำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี
จำนวนพนักงาน 2,500 คน รวมพนักงานอัตราจ้างตามฤดูกาล
การส่งออก ภูมิภาคอาเซียน โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา
ประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
เริ่มเดินสายการผลิต ปี 2558
คาดการณ์กำลังการผลิตรวมจากโรงงานทั้งสองแห่งอยู่ที่ 420,000 คันต่อปี ภายในปี 2558