บริษัท อพอลโล ไทร์ส จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำในประเทศอินเดีย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมือง กูรกาวน์ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจของประเทศและมีศูนย์ปฏิบัติงานใน 3 ทวีป ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 16,000 คนทั่วประเทศอินเดีย แอฟริกาใต้ และยุโรป
บริษัทอพอลโลได้ควบรวมกิจการของบริษัท Apollo Vredestein BV (เดิมชื่อ Vredestein Banden BV) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์โดยสารและยางรถยนต์ชนิดพิเศษระดับไฮเอนด์ โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่เมือง แอ็นสเคอเด และมีเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายครอบคลุมทั่วยุโรป ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2549 บริษัทอพอลโล ไทรส์ได้ควบรวมกิจการของบริษัท Apollo Tyres South Africa (Pty) Ltd (เดิมชื่อ Dunlop Tyres International (Pty) Ltd) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ทุกประเภท โดยมีลิขสิทธิ์แบรนด์ในทวีปแอฟริกา 32 ประเทศ มีโรงงานผลิตยาง 3 แห่ง และมีโรงงานซ่อมยางในแอฟริกาใต้และซิมบับเว ในเดือนธันวาคม 2556 อพอลโลได้ขาย บริษัท Apollo Tyres South Africa (Pty) Ltd พร้อมด้วยโรงงาน Ladysmith และลิขสิทธิ์แบรนด์ Dunlop ที่บริษัทได้ถือครองใน 32 ประเทศในทวีปแอฟริกา
โรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทอพอลโลตั้งอยู่ในเมือง ลิมด้า ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของรัฐ คุชราต ในประเทศอินเดีย โรงงานผลิตอีก 2 แห่งตั้งอยู่ในรัฐ เกราละ ทางตอนใต้ของอินเดียซึ่งเป็นรัฐที่ผลิตยางเป็นหลัก และโรงงานใหม่ล่าสุดตั้งอยู่ใกล้เมือง เจนไน ในรัฐ ทมิฬนาฑู โรงงานทั้ง 4 แห่งนี้มีกำลังการผลิตรวมแล้ว 1450 ตันต่อวัน ในแอฟริกาใต้ มีโรงงานในเมือง เดอร์บัน มีกำลังการผลิต 90 ตัน และโรงงานในเมือง แอ็นสเคอเด ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีกำลังการผลิตอีก 195 ตันต่อวัน รวมแล้วในปัจจุบันนี้มีกำลังการผลิตทั้งสิ้นประมาณ 1650 เมตริกตันต่อวัน
อพอลโล มียางทุกประเภทสำหรับรถยนต์โดยสาร, SUV, MUV รถบรรทุกเล็ก รถบัส รถเพื่อการเกษตร รถเพื่องานอุตสาหกรรม ยางชนิดพิเศษ จักรยาน และรถออฟโรด รวมไปถึงวัสดุสำหรับซ่อมยางและยางต่างๆ
2 แบรนด์หลักในการทำตลาดคือ Apollo และ Vredestein ส่วนแบรนด์อื่นๆ ประกอบไปด้วย Regal, Kaizen (ยางสำหรับรถบัส), Maloya (สำหรับรถยนต์โดยสาร), DuraTyres (ซ่อมยางใช้แล้ว) และ DuraTread (วัสดุสำหรับซ่อมยาง)
สำหรับโรงงานของอพอลโลในเจนไนมีพื้นที่กว่า 123 เอเคอร์ (ประมาณ 360 ไร่) และอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 50 กิโลเมตรและกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างเพื่อขยายพื้นที่
ในแต่ละวัน อพอลโลสามารถผลิตยางรถยนต์สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลได้ถึง 16,000 เส้น, ยางสำหรับรถบรรทุกและรถบัส 6,000 เส้นหรือ 500 เมตริกตันต่อวัน เมื่อการขยายโรงงานเสร็จสิ้น อพอลโลจะมีกำลังผลิตเป็นสองเท่า นั่นคือ 12,000 เส้นหรือเท่ากับ 750-800 ตันต่อวัน
นายซาติช ชาร์มา ประธาน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของบริษัทคือการได้เป็นผู้เล่นตัวสำคัญของธุรกิจยางรถยนต์ทั่วโลก ตั้งเป้าหมายในการขยายธุรกิจไปทั่วโลกโดยการกระจายศูนย์ปฏิบัติงานและพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทตั้งใจไว้ว่าอพอลโลจะเติบโตโดย organic และ inorganic
ผลิตภัณฑ์ของยางอพอลโลมีวางจำหน่ายในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งออกเป็นเขตต่างๆซึ่งรวมถึงเอเชีย แปซิฟิค, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา รวมถึงทางฝั่งยุโรปและอเมริกา อพอลโลยังมีส่วนแบ่งของตลาดยางรถยนต์ประเภท winter tyres ในทวีปยุโรปที่ 30%
สำนักงานขายและการตลาดในประเทศไทยของอพอลโลนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการทำงานทั้งหมดของภูมิภาคอาเซียน ส่วนสำนักงานอื่นนั้นตั้งอยู่ที่เมืองดูไบ รับผิดชอบกิจการในตะวันออกกลาง, แอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตะวันตก สำนักงานในกรุงโจฮันเนสเบิร์กดูแลตลาดในประเทศแอฟริกาใต้และพื้นที่ใกล้เคียง






นายซาติชกล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนนั้นถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ทางอพอลโลตั้งมูลค่าการซื้อขายในอาเซียนไว้ที่ 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในระยะเวลา 18 เดือน อีกทั้งยังตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยจาก 5% เป็น 10% ภายในปีพ.ศ. 2563
ยอดขายของอพอลโลมาจากการส่งออก 11% และ 35% ของส่วนนั้นมาจากการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ภายในปีพ.ศ. 2563 อพอลโล ไทร์สตั้งเป้าหมายไว้ว่ายอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% และเพิ่มการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนเป็น 50% ของการส่งออกทั้งหมด
นายซาติชยังเผยว่า เมื่อสามปีก่อนทางอพอลโล ไทร์สได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ในตอนนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจมากในการเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ดี ตอนนี้หลายอย่างเปลี่ยนไปมาก ประเทศไทยเปลี่ยนจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร แต่ก็ยังมีข้อดีทั้งในด้านการผลิตที่เข้มแข็งและการเชื่อมต่อกับทั้งผู้เล่นทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่แข็งแรง อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตมายาวนานและอัตราการเติบโตที่เสถียร
ในขณะนี้ อพอลโล ไทร์สกำลังสร้างโรงงานใหม่ที่ประเทศฮังการี ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 475 ล้านยูโรและจำเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการรองรับตลาดในทวีปยุโรปที่กำลังขยายตัว
หลังจากนั้น อพอลโล ไทร์สมีโครงการจะสร้างโรงงานในประเทศภูมิภาคอาเซียนด้วย ซึ่งประเทศที่มีความเป็นไปได้คือ อินโดนีเซีย, เวียดนามและไทย ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์ปฏิบัติงานด้านการผลิตที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์แห่งแรกของอพอลโล ไทร์ส
“เราวางแผนไว้ว่าโรงงานผลิตยางที่จะสร้างในอาเซียนนี้จะมีขนาดใหญ่และจะสร้างมาเพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาดครั้งใหญ่ ที่นี่จะไม่ได้ผลิตยางสำหรับประเทศในอาเซียนเท่านั้น แต่ว่าจะส่งออกไปยังพื้นที่อื่นๆด้วย” นายซาติชกล่าว
“เราเน้นแผนการขายและการตลาดมากกว่าเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเดียว เพราะจากที่ได้เรียนรู้มาจากประเทศอาเซียนหลายประเทศ ซึ่งรวมถึง ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนามและกัมพูชา เราได้ข้อสรุปว่า หากเรามีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมต่อความต้องการและมีความเข้าใจต่อตลาดนั้นๆแล้ว เราจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้” นายซาติชกล่าวเพิ่มเติม
ในขณะนี้ อพอลโล ไทร์ส ได้ลงทุนในประเทศไทยในด้านของการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น โดย อพอลโล ไทร์ส ไม่ได้รับผลกระทบจากยางรถยนต์ราคาถูกที่ผลิตจากประเทศจีนเพราะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเดียวกัน อพอลโลนั้นมีอัตราการเติบโตในตลาดประเทศไทยกว่า 80-90% ทุกปี แบรนด์อพอลโลถูกวางอยู่ในระดับ Tier 2 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับ Hankook และสูงกว่า Maxxis

อพอลโล ไทร์สประกาศการต่อสัญญาเป็นพันธมิตรกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดใน 129 ประเทศ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในทวีปแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังช่วยให้แบรนด์ได้เติบโตในอีกหลายประเทศด้วย
หลังจากที่ประสบความสำเร็จด้านยางเรเดียลสำหรับรถบรรทุก,ยางสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลและประเภทอื่นๆที่มีขนาดใกล้เคียงกัน อพอลโลวางแผนที่จะเข้าสู่ตลาดรถกระบะในปีพ.ศ. 2559 นี้
ในปัจุบัน อพอลโล ไทร์สให้ความสำคัญกับสามตลาดหลักนั่นคือ ยางเรเดียลสำหรับรถบรรทุก, ยางสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลและยางสำหรับยานพาหนะเพื่อการเกษตร
ส่วนแบ่งตลาดของอพอลโลในประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่เกือบ 5% ตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกจะไม่ค่อยคึกคักนัก แต่อัตราการเติบโตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์ว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายเมื่อผลิตภัณฑ์ยางรถกระบะพร้อมวางจำหน่ายสู่ตลาดในปีพ.ศ. 2559

