นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้ง “โครงการเมืองจราจรจำลอง แห่งที่ 3 และ 4 ในเขตภาคเหนือและภาคใต้” ร่วมกับ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ ดร. กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ศกนี้ ณ The Style by Toyota สยามสแควร์ กรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ. 2556 นับเป็นปีแรกในการก้าวเข้าสู่ 50 ปีต่อไปของโตโยต้าในประเทศไทย เราจึงมีความตั้งใจที่จะก้าวสู่ทศวรรษใหม่กับค่านิยมขององค์กรภายใต้แนวคิด “โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข” (Toyota… Mobility of happiness) ด้วยความตั้งใจในการสร้างสรรค์รอยยิ้มและความสุขให้เกิดแก่คนไทยทุกคน หนึ่งในกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของโตโยต้าที่จะขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย คือ โครงการ “ถนนสีขาว” กิจกรรมสังคมที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งปี พ.ศ.2531 หรือ กว่า 25 ปี ที่โตโยต้าได้ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยบนท้องถนน โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับกฎ วินัยจราจร รวมถึงน้ำใจในการใช้รถใช้ถนน เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ ด้วยการมุ่งเน้นส่งต่อองค์ความรู้ตั้งแต่เด็ก เยาวชน ไปยังระดับชุมชนท้องถิ่นต่อเนื่องในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
การจัดตั้ง “เมืองจราจรจำลอง” นับเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการเคารพกฎจราจรให้แก่เด็ก และเยาวชน ภายใต้โครงการถนนสีขาว โดยได้เปิดดำเนินงานมาแล้ว 2 แห่ง คือ
- เขตกรุงเทพฯและภาคกลาง : เมืองจราจรจำลอง สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2547 บนเนื้อที่ 7 ไร่ ด้วยความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร
- เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : โครงการอุทยานเรียนรู้ เมืองจราจรจำลอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ในปี พ.ศ.2553 บนเนื้อที่ 12 ไร่ ด้วยความร่วมมือจากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง และศูนย์ศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร เปิดเผยว่า “เมืองจราจรจำลอง เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้ โครงการถนนสีขาว ซึ่งโตโยต้ามุ่งส่งเสริมสังคมไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี โดยมุ่งเน้นส่งเสริมความปลอดภัยอย่างยั่งยืนบนท้องถนน ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้รถ ใช้ถนน ส่งเสริมทักษะในการขับรถให้กับเด็กและเยาวชนคำนึงถึงความปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งเมืองจราจรจำลองแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2547 และขยายศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2553 ณ ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนและเยาวชนเข้าร่วมอบรมทั้งสองแห่งจำนวน 1.5 ล้านคน โดยโตโยต้ามีความมุ่งมั่นที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ซึ่งในปีนี้ได้ทำการขยาย เมืองจราจรจำลองแห่งที่ 3 และ 4 ไปยังภาคเหนือที่จังหวัดพิษณุโลก และภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านวินัยจราจรในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อส่งเสริมสังคมในการช่วยลดสถิติการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุทางจราจรต่อไปในอนาคต”
“เมืองจราจรจำลอง” แห่งที่ 3 และ 4 นั้น ได้รับความร่วมมือจากขนส่งจังหวัดพิษณุโลก และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ สถานที่ตั้งของเมืองจราจรจำลองทั้ง 2 แห่ง คือ
เมืองจราจรจำลอง แห่งที่ 3 เขตภาคเหนือ
ที่ตั้ง ขนส่งจังหวัดพิษณุโลก ถนนสิงหวัฒน์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
เมืองจราจรจำลอง แห่งที่ 4 เขตภาคใต้
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ปรับปรุงพื้นที่บางส่วนภายในอาคารวิทยาศาสตร์และการกีฬา)
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง คือ
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎจราจรการใช้รถ ใช้ถนนอย่างถูกต้องปลอดภัย ให้กับยาวชน โดยเน้นที่การได้ฝึกปฏิบัติขับขี่จริงบนเส้นทางจราจรจำลอง
เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกด้านความมีน้ำใจในการใช้รถ ใช้ถนน และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการขับขี่อย่างถูกต้องแก่เด็ก และเยาวชน
เพื่อให้เยาวชนสามารถขยายผลการเรียนรู้ไปสู่ครอบครัว และชุมชนใกล้เคียง เพื่อลดปัญหาการจราจร รวมทั้งอุบัติเหตุบนท้องถนน
เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมเกี่ยวกับกฎจราจรแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป
กลุ่มเป้าหมายหลัก
เด็ก และเยาวชนทั่วไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยเน้นให้ความรู้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา ในเขตภาคเหนือและภาคใต้
ชุมชน หรือประชาชนทั่วไป
หน่วยงานที่สนใจพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทางด้านกฎจราจรที่ถูกต้อง
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค กล่าวว่า “กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินงานเพื่อสอดรับทศวรรษแห่งความปลอดภัยซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ จากการศึกษาถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากผู้ขับขี่ขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะการขับรถที่ถูกต้อง ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบเมืองจราจรจำลองที่ขนส่งจังหวัดพิษณุโลก จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวินัยจราจรในเขตภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นรากฐานในการสร้างจิตสำนึก เรียนรู้วินัยจราจรในการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องและจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนได้ในระยะยาว”
ดร. กีร์รัตน์ สงวนไทร เปิดเผยว่า “ในนามของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความยินดีและรู้สึกชื่นชมทางโตโยต้าฯ ที่เห็นความสำคัญและส่งเสริมกิจกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 25 ปี รวมถึงให้โอกาสกับทางมหาวิทยาลัยฯ จัดตั้งเมืองจราจรจำลองแห่งที่ 4 เป็นศูนย์กลางเรียนรู้วินัยจราจรต้นแบบของภาคใต้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้และใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม”