นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เพ็ชรี สุมิตร ประธานมูลนิธิโครงการตำราฯ พร้อมคณะผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมเปิดโครงการบรรยายสาธารณะเสวนาวิชาการ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสงครามมหาเอเชียบูรพา-วิกฤตบ้านโป่ง-ทางรถไฟสายมรณะ พ.ศ. 2485” เมื่อเร็วๆนี้ ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ (Paragon Cineplex) สยามพารากอน
มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราฯ และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมจัดโครงการบรรยายสาธารณะเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสงครามมหาเอเชียบูรพา-วิกฤตบ้านโป่ง-ทางรถไฟสายมรณะ พ.ศ. 2485” (Local History Greater East Asia War-Ban Pong Affair-Death Railway: 1942) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค พร้อมจัดฉายภาพยนตร์ เรื่อง “The Railway Man” แค้นสะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อให้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง โดยการสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์

• เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่าน “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง”
• เพื่อกระตุ้นให้ครูอาจารย์และนักเรียนในระดับท้องถิ่นสนใจต่อวิชาด้านสังคมศึกษา โดยผ่านกรณีที่ใกล้ตัว และผู้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม
• เพื่อกระตุ้นความสนใจในลักษณะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กว้างขวางในระดับประเทศ
• เพื่อใช้สื่อภาพยนตร์และการบันเทิง เพิ่มความสนใจต่อวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสังคมศึกษา
นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า “การบรรยายสาธารณะในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหลักของมูลนิธิฯ ในการส่งเสริมการศึกษาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในหลากหลายมิติ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของชาติ ของภูมิภาค และของสากล ขยายความรู้ในเรื่องดังกล่าวให้กว้างขวาง เพื่อนำไปสู่การมีความรู้ ความเข้าใจที่ปราศจากอคติ ต่อประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเสาหลักของประชาคมอาเซียนในมิติสังคมและวัฒนธรรม อันจะก่อให้เกิดอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งเป็นความตั้งใจของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราฯ ที่ร่วมกันทำงานวิชาการร่วมกันมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี”

โดยประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการบรรยายสาธารณะในครั้งนี้
• เข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สังคมศึกษา และความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของชาติ
• ขยายความเข้าใจให้กว้างขวางในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/อาเซียนกับภูมิเอเชีย
• ต่อยอดการศึกษาให้สูงขึ้นไปจากระดับมัธยมปลาย และระดับปริญญาตรี
• สนับสนุนกิจกรรมของ “ชมรมรักษ์บ้านโป่ง/โพธาราม ซึ่งเป็นชมรมท้องถิ่นอีกด้วย
โครงการบรรยายสาธารณะ ได้กำหนดจัดมาแล้ว 1 ครั้ง โดยจัดร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา ในหัวข้อ “เขตแดนทางทะเล: ปัญหาและทางออก” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ หอศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี